1. ธปท.ชี้ไตรมาส 4 ปี 54 เงินเฟ้อมีโอกาสเกินร้อยละ 3.0
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ”การสร้างความสมดุล ภายใต้การดำเนินนโยบายการเงิน (Living with capital flows:A delicate balancing act)” งานสัมมนาของนิตยสารยูโรมันนี่ ว่า จากการศึกษาพบว่าเงินเฟ้อก่อตัวขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค.และก.พ. 54 จากการบริโภคในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และนำไปสู่อุปสงค์ที่สูงขึ้น มีการเรียกร้องขอค่าจ้างแรงงานเพิ่ม ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินต้องมีความรอบครอบเพิ่มขึ้น เพราะเท่าที่ติดตามดูสถานการณ์น่าจะมีไปถึงปลายปี 54 ทำให้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 54 มีโอกาสที่จะสูงเกินร้อยละ 3.0 จากกรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 0.5 – 3.0
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 54 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยในเดือน ม.ค. และ ก.พ. 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวร้อยละ 3.03 และ 2.87 ตามลำดับ ซึ่งแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมีปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบีย โดยราคาน้ำมันดิบ Dubai และ WTI ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 18.15 และ 11.74 จากต้นปี 54 ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ประกอบกับการปรับเพิ่มเงินเดือนของข้าราชการ พนักงานเอกชน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวร้อยละ 3.5 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 53) และจะมีปรับประมาณการเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค. 54
2. หวั่นวิกฤติลิเบียลุกลาม ดันราคาน้ำมันทะลุ 150 เหรียญ
- ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ในลิเบียยังไม่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้นจนน่ากังวล แต่หากสถานการณ์รุนแรงจนลุกลามไปถึงซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 1 ของโลก ก็อาจส่งผลทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเกิน 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งมากกว่าวิกฤติน้ำมันที่เคยเกิดขึ้นในปี 51
- สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ความรุนแรงในลิเบียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของทวีปแอฟริกา (มีกำลังการผลิตคิดเป็น 4.5 ของกำลังการผลิตในกลุ่มโอเปค หรือร้อยละ 1.8 ของกำลังการผลิตรวม) ได้ส่งผลโดยตรงต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น
โดยล่าสุด ณ 21 มี.ค.54 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 108.63 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี 54 ถึงร้อยละ 18.15 (ราคาน้ำมันดิบต้นปี 54 อยู่ที่ 91.94 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นคือ ความต้องการใช้น้ำมันของญี่ปุ่นหลังโรงกลั่นน้ำมันได้รับความเสียหาย
3. ยอดขายบ้านสหรัฐเดือน ก.พ. 54 หดตัว
- สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า ยอดขายบ้านสหรัฐ ณ เดือน ก.พ. 54 หดตัวอยู่ที่ระดับ -9.6 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน โดยมีจำนวนบ้านที่ขายทั้งสิ้น ณ ก.พ. 54 อยู่ที่ 4.88 ล้านหลังต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนที่ 5.4 ล้านหลังต่อปี ขณะที่ราคาบ้านได้ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 9 ปี โดยหดตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -1.1 ถือเป็นสัญญาณว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐยังคงไม่ฟื้นตัว
- สศค.วิเคราะห์ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐยังคงซบเซาจากตัวเลขยอดการขายบ้านและยอดสร้างบ้านใหม่ในเดือน ก.พ. 54 ที่ปรับลดลง ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงต้องดำเนินมาตรการ QE2 ต่อไปจนสิ้นสุดเดือน มิ.ย. 54
อย่างไรก็ตาม จากอัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อยในเดือน ก.พ. 54 ที่ระดับ 8.9 ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ณ เดือน ม.ค. 54 ปรับตัวอยู่ในระดับสูงที่ 60.6 สะท้อนถึงการขยายตัวในภาคการบริโภคเอกชนที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 ของจีดีพี โดยเฉพาะการขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม และเสื้อผ้า นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐาน ณ เดือน ม.ค. 54 ยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 1.6 และ 1.0 ตามลำดับ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง