สถาบันอาหาร ยิ้มรับงบจากอียูเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารพร้อมบริโภค ตอบโจทย์ผู้บริโภค เพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู่ตลาดอียู
สถาบันอาหาร ยิ้มรับงบจากอียูเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารพร้อมบริโภค ตอบโจทย์ผู้บริโภค เพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู่ตลาดอียู
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป(อียู) ทั้งในรูปของเงินงบประมาณ และการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษมาเพื่อจัดทำโครงการเสริมสร้างความสามารถในการจัดการด้านความปลอดภัยของอาหารพร้อมบริโภคของไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ผลิตอาหารในการผลิตอาหารพร้อมบริโภค(Ready to Eat หรือ RTE) ให้มีคุณภาพและความปลอดภัยได้มาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันสู่ตลาดอียูและประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการบริโภคเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์กระแสวิถีชีวิตผู้บริโภคทั่วโลกที่ต้องการความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการบริโภคอาหาร
รับสมัครเข้าโครงการช่วงแรก 10 โรงงาน เน้นกลุ่มอาหารปรุงสุกก่อนการแช่เย็นหรือแช่แข็ง คาดจะช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลให้ตลาดอียูและทั่วโลกมั่นใจได้ โดยในปี 2553 ที่ผ่านมาคาดว่าอุตสาหกรรมอาหารพร้อมปรุง-พร้อมทานในตลาดโลกอาจมีมูลค่าสูงถึง 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายอมร งามมงคลรัตน์
รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการเสริมสร้างความสามารถในการจัดการด้านความปลอดภัยของอาหารพร้อมบริโภคของไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือของ Thailand-EU Cooperation Facility ในครั้งนี้เป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (อียู)เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ผลิตอาหารในการผลิตอาหารพร้อมบริโภค(Ready to Eat หรือ RTE) ให้มีคุณภาพและความปลอดภัยได้มาตรฐานสากล ทั้งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันสู่ตลาดอียูและประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการบริโภคเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ตอบโจทย์กระแสวิถีชีวิตผู้บริโภคทั่วโลกที่ต้องการความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทปรุงสุกก่อนแช่แข็งของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มใหญ่ๆ ที่ส่งออกได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากไก่และกุ้งปรุงสุกก่อนแช่เย็นหรือแช่แข็ง โดยมีตลาดอียูเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ ซึ่งมีมูลค่าส่งออกปีละหลายหมื่นล้านบาท
ซึ่งการส่งออกสินค้าไปอียู รวมทั้งประเทศคู่ค้าอื่นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัยของอาหารอย่างเคร่งครัด ก่อนได้รับอนุญาตนำอาหารเข้าประเทศ ดังนั้นเพื่อให้ได้รับการยอมรับและลดการถูกกักกันสินค้าจากต่างประเทศ ผู้ผลิตจำเป็นต้องได้รับการรับรองระบบคุณภาพด้านต่างๆ (Food Safety Management) เช่น GMP, HACCP, BRC, IFS รวมทั้งต้องมีเอกสารรับรองการกำหนดกระบวนการฆ่าเชื้อผลิตภัณฑ์ก่อนการแช่เย็นหรือแช่แข็งให้ได้ตามเกณฑ์ของข้อกำหนดแต่ละประเทศด้วย
นายอมร กล่าวต่อว่า “โครงการนี้เน้นผู้เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารพร้อมบริโภคในกลุ่มของอาหารที่มีการปรุงสุกก่อนการแช่เย็นหรือแช่แข็ง และมีการจัดเก็บและจำหน่ายในสภาวะแช่เย็นหรือแช่แข็ง ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตทั้งกระบวนการฆ่าเชื้อ การบรรจุ การขนส่งทั้งก่อนและหลังกระบวนการผลิต และการจัดเก็บ
ซึ่งจะต้องมีการทำลาย ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคและที่ทำให้เกิดการเสื่อมเสีย รวมทั้งป้องกันการปนเปื้อนกลับ โดยโรงงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญถึงกระบวนการผลิตให้ปลอดภัยและเข้าใจถึงหลักเกณฑ์และข้อกำหนดในการฆ่าเชื้อผลิตภัณฑ์อาหารให้ปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานอาหารของแต่ละประเทศ
โดยเราได้รับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 10 โรงงาน ที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตอาหารปรุงสุกก่อนการแช่เย็นหรือ แช่แข็ง มีระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งสิ้น 18 เดือน โดยจะสิ้นสุดโครงการในเดือนมิถุนายน 2555 ดำเนินงานโดยสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากอียูเป็นจำนวนเงิน 310,747 ยูโร หรือราว 13 ล้านบาท
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของโครงการนั้น กล่าวคือ จะมีผู้เชี่ยวชาญไทยอย่างน้อย 50 คน ได้รับความรู้ด้านความปลอดภัยอาหาร RTE จากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ เจ้าหน้าที่สถาบันอาหารอย่างน้อย 10 คน ได้รับการฝึกอบรมเรื่อง การจัดการความปลอดภัยของอาหารโดยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ
ผู้ประกอบการอย่างน้อยจำนวน 50 คน ได้รับความรู้เรื่องหลักการผลิตอาหาร RTE อย่างปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารโดยผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย และโรงงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจำนวน 10 โรงงาน จะได้รับการยกระดับด้านการผลิตอาหาร RTE อย่างปลอดภัยโดยผู้เชี่ยวชาญไทยที่ผ่านการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษ และมีผู้ที่สนใจทั่วไปได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างน้อย 200 คน”
นายซามูเอล แคนเทล
รองหัวหน้าฝ่ายความร่วมมือ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
นายซามูเอล แคนเทล รองหัวหน้าฝ่ายความร่วมมือ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า "กลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)เป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นตลาดที่นำเข้าสินค้าอาหารจากไทยสูงเป็นอันดับ3
โดยในปี 2553 ประเทศไทยส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารไปยังอียู คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 100,000 ล้านบาท (กว่า 2,500 ล้านยูโร) หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของสินค้าทั้งหมดที่ไทยส่งออกไปยังอียู เราหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ผลิตอาหารของไทยได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของระเบียบด้านความปลอดภัยในสินค้าอาหารพร้อมบริโภคได้ดียิ่งขึ้น และนับเป็นความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทยในอีกทางหนึ่งด้วย”
อนึ่ง ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1)อาหารพร้อมปรุง-พร้อมทานแช่เย็น(Chilled ready meals) 2) อาหารพร้อมปรุง-พร้อมทานแช่แข็ง(Frozen ready meals) 3) อาหารพร้อมปรุง-พร้อมทานแบบบรรจุกระป๋อง และ 4) อาหารพร้อมปรุง-พร้อมทานแบบแห้ง (Dried ready meals)
โดยในปี 2553 ที่ผ่านมาคาดว่าอุตสาหกรรมอาหารพร้อมปรุง-พร้อมทานในตลาดโลกรวมทุกประเภทอาจมีมูลค่าสูงถึง 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดเอเชียแปซิฟิก และตลาดยุโรป เป็นตลาดหลักที่สำคัญ ซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมและขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ไทย ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยมีอินเดียเป็นตลาดดาวรุ่งที่กำลังมาแรงเนื่องจากชนชั้นกลางเริ่มมีกำลังซื้อสูงมากขึ้น ส่วนประเทศจีนยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวมากน้อยเพียงใด