เนื้อหาวันที่ : 2011-03-22 14:01:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1131 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 22 มี.ค. 2554

1.  หอการค้าไทยคาดสถานการณ์ในลิเบียกระทบราคาน้ำมันไม่เกิน 120 ดอลลาร์/บาเรล
-  ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์กองกำลังสหประชาชาติ (UN) ถล่มลิเบียว่า จะไม่กระทบราคาน้ำมันมากนัก เนื่องจากการดำเนินการของ UN จะทำให้สถานการณ์สงบลงโดยเร็ว โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะไม่เกิน 120 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่วนเหตุภัยพิบัติในญี่ปุ่น คาดว่าจะกระทบต่อจีดีพีเล็กน้อย แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ของ GDP จากเดิมที่สูงถึงร้อยละ 200 ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

-  สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ในลิเบีย และภัยพิบัติในญี่ปุ่น จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 54 โดยในกรณีประเทศลิเบียจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อประเทศไทยผ่านอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่สถานการณ์ภัยพิบัติญี่ปุ่น จะส่งผลกระทบโดยตรงผ่านการส่งออก นำเข้า และการท่องเที่ยวของไทย

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นจะมีส่วนในการกดดันราคาน้ำมันในตลาดโลกจากอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นทดแทนพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ที่ปิดโรงปฏิกรณ์ไปบางส่วน ทั้งนี้ คาดว่า สศค.จะมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 54 ลง (โดย ในเดือน ธ.ค. 53 สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 4.5) ทั้งนี้ สศค.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มี.ค. 54 นี้

2. ธนาคารโลกเพิ่มเป้าเศรษฐกิจไทย
-  ธนาคารโลก ประกาศปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาภูมิภาคเอเชียตะวันออก (ซึ่งไม่รวมญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย) ในปี 2554 เป็นร้อยละ 8.2 จากเดิมร้อยละ 7.8 ทั้งนี้ธนาคารโลกได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่จากเดิมที่ร้อยละ 3.2 เป็นขยายตัวร้อยละ 3.7

-  สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดี ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน (ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 4.8 และ 13.8 ตามลำดับ) โดยได้รับแรงหนุนจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง และภัยพิบัติในญี่ปุ่นที่จะกระทบต่อการลงทุนของไทย ซึ่ง สศค. จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง ดังกล่าว

3. หุ้นยุโรปทะยานขึ้นท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นที่เริ่มคลี่คลายลง
-  สำนักข่าวบลูมเบอร์กเปิดเผยว่าหุ้นภูมิภาคยุโรปเริ่มฟื้นตัวตอบรับกระแสข่าววิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นที่เริ่มคลี่คลายลง ตลอดจนกลุ่มชาติพันธมิตรตะวันตกเริ่มเข้าควบคุมลิเบียหลังจากเปิดการโจมตีทางอากาศในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นกลุ่มสื่อสาร Deutche Telekom AG เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 14 หลังจาก AT&T ตัดสินใจซื้อ T-Mobile USA ในราคา 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งราคาหุ้นกลุ่มยานยนต์ Daimler AG (DAI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 หลังจากนักวิเคราะห์ลงความเห็นว่าควรลงทุนในหุ้นกลุ่มบริษัทผลิตรถยนต์ 

-  สศค.วิเคราะห์ว่า แม้ว่าสถานการณ์ในยุโรปจะกระเตื้องขึ้นจากตัวเลขดัชนีหุ้นบางกลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในระยะยาวยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความกังวลหนี้สาธารณะในยุโรปที่อาจปะทุรอบใหม่ และราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจากสถานการณ์รุนแรงในตะวันออกกลาง (โดยล่าสุด S&P ได้ปรับลดอันดับเรตติ้งของลิเบียจากระดับ  A- เป็น BBB+ และอาจปรับลดอีกในอนาคต)

ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย เนื่องจากยุโรปเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากไทยร้อยละ 9.8 ของการส่งออกจากไทยทั้งหมด โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของไทยที่ส่งออกไปภูมิภาคนี้ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารแช่แข็ง สิ่งทอและเสื้อผ้า

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง