ผู้ประกอบการพร้อมผนึกกำลังกับภาครัฐต้านโรคอ้วนด้วยการให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ผู้บริโภค
กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประกาศพร้อมสนับสนุนนโยบายของ อย. ในการปรับฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหารเป็นแบบ จีดีเอ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการทางโภชนาการของแต่ละบุคคล
ทั้งนี้ เนื่องจากฉลากอาหารแบบจีดีเอ (GDA) เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับและมีใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ อีกทั้ง ในปัจจุบันผู้ประกอบการในประเทศไทยบางราย ก็ได้เริ่มนำฉลากอาหารแบบจีดีเอมาใช้อยู่บ้างแล้ว จุดเด่นของฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ คือการนำเสนอข้อมูลปริมาณสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการตามที่มีอยู่จริง โดยปราศจากการชี้นำ
ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของ FAO/WHO CODEX ที่ระบุว่าข้อมูลบนฉลากโภชนาการควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณสารอาหารต่างๆในผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยไม่ชี้นำผู้บริโภคว่าควรบริโภคอาหารใด ในปริมาณเท่าใดเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
คุณ วิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวว่า “โรคอ้วนเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ตระหนักดีถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ยังมีความพร้อมในการร่วมให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับฉลากโภชนาการ ตลอดจนการบริโภคอย่างสมดุลย์ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคชาวไทยทุกคนมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน”
ดร.พิเชฐ อิฐกอ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวเสริมว่า “ฉลากอาหารแบบ จีดีเอ เป็นที่ยอมรับมากกว่าฉลากอาหารแบบสีสัญญาณไฟจราจร ซึ่งใช้สีในการชี้นำผู้บริโภค และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ เพราะผู้บริโภคแต่ละคนมีความต้องการด้านโภชนาการที่แตกต่างกัน นอกจากนี้การใช้สีสัญญาณแบบไฟจราจรไม่ได้ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงหลักสมดุลทางโภชนาการ และอาจชี้นำให้ผู้บริโภคมีแนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าโดยพิจารณาจากสีแทนที่จะคำนึงถึงการวางแผนการบริโภคในแต่ละวันอย่างสมดุล”
คุณ วิศิษฎ์ กล่าวต่อไปว่า “กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมุ่งมั่นที่จะร่วมแก้ไขปัญหาโรคอ้วนกับภาครัฐอย่างจริงจัง โดยได้ร่วมหารือกับ อย. เพื่อพัฒนาฉลากโภชนาการที่ให้ข้อมูลได้อย่างเหมาะสมและเข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เรายังมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนอย่างยั่งยืนตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วน แต่ ณ ขณะนี้ ยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด”