ปตท. เผยสถานการณ์ราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นกระทบกำลังการผลิตและปริมาณน้ำมันสำรองสหรัฐเพิ่ม แนะจับตาสถานการณ์ตะวันออกกลาง หวั่นดันราคาน้ำมันพุ่ง
ปตท. เผยสถานการณ์ราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นกระทบกำลังการผลิตและปริมาณน้ำมันสำรองสหรัฐเพิ่ม แนะจับตาสถานการณ์ตะวันออกกลาง หวั่นดันราคาน้ำมันพุ่ง
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.07 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 106.71 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับลดลง 1.73 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อยู่ที่ 112.66 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลและน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลง 3.65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลงจากผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความรุนแรงสูงมากถึง 9 ริกเตอร์ รุนแรงที่สุดในรอบ 140 ปี และคลื่นสึนามิทำให้เศรษฐกิจเสียหายคิดเป็นวงเงินเบื้องต้นประมาณ 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณมูลค่ามหาศาลเพื่อฟื้นฟูประเทศ ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันของญี่ปุ่นกว่า 30 % หรือ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันต้องหยุดดำเนินการ และโรงกลั่นในตะวันออกกลางหลายแห่งมีกำหนดปิดซ่อมบำรุงประจำปี ประกอบกับ ประเทศ OPEC-10 ส่งออกน้ำมันดิบเฉลี่ย 4 สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 เม.ย. 54 เพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่ระดับ 23.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 มี.ค. 54 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตามวันที่ 19 มี.ค. กำลังทหารของชาติตะวันตกเปิดฉากโจมตีลิเบียด้วยกำลังทางอากาศต่อกองกำลังของผู้นำลิเบียอย่างรุนแรง เพื่อบังคับใช้เขตห้ามบิน หรือ No Fly Zone ตามมติของสหประชาชาติ ขณะที่การประท้วงในเยเมนมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น และ บาห์เรนประกาศกฎอัยการศึก 3 เดือน ตั้งแต่ 15 มี.ค.54 อาจปลุกเร้าให้ความขัดแย้งลุกลามไปยังประเทศในตะวันออกกลางจากข้อขัดแย้งระหว่างนิกายชีอะห์และสุหนี่ ส่งผลให้ราคาน้ำมันแข็งแกร่งขึ้น
สำหรับภาคเศรษฐกิจล่าสุดธนาคารกลางของจีนปรับเพิ่มเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์เป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ที่ 0.5% มาอยู่ที่ระดับ 20% ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.54 ด้านตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณที่ดีจากยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 มี.ค. 54 ลดลง 16,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 385,000 ราย
ขณะที่สถิติด้านอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ไม่สดใสนักหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.พ. 54 ลดลง 22.5% จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 479,000 หน่วย ลดลงต่ำสุดในรอบ 27 ปี และการอนุญาตก่อสร้างลดลงสู่ระดับ 517,000 หน่วย
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันจะแข็งแกร่งขึ้นจากความวิตกต่อปัญหาในประเทศผู้ผลิตน้ำมันโดยเฉพาะสถานการณ์ในลิเบียที่ประเทศตะวันตกได้ใช้มาตรการทางทหารเต็มรูปแบบประกอบกับโรงกลั่นของญี่ปุ่นเริ่มกลับมาดำเนินการบางส่วนซึ่งผู้อำนวยการขององค์กรพลังงานสากล (International Energy Agency:IEA) คาดว่าญี่ปุ่นต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าแทนพลังงานนิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เสียหาย
ให้จับตาสถานการณ์ในประเทศตะวันออกกลาง อาทิ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 400,000 บาร์เรลต่อวัน (25% ของกำลังการผลิตรวม) และการประท้วงในเยเมน และบารห์เรน ให้ติดตามการประกาศอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนี และสหรัฐฯในสัปดาห์นี้