เนื้อหาวันที่ : 2011-03-21 13:55:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 918 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 14-18 มี.ค. 2554

การเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ก.พ. 54 เบิกจ่ายได้จำนวน 154.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -15.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 54 จำนวน 139.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 6.7 ของกรอบวงเงิน 2.07 ล้านล้านบาท

ในขณะที่รายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้ 122.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 16.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -67.6  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายที่สำคัญในเดือน ก.พ. 54 ได้แก่ เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 11.6 พันล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 5.7 พันล้านบาท และงบรายจ่ายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 3.8 พันล้านบาท

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 เบิกจ่ายได้จำนวน 988.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง2555 ณ วันที่ 11 มี.ค. 54 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 267.6 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 76.5 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.พ. 54  ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -34.6 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -2.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ของรัฐบาลขาดดุลจำนวน -36.6 พันล้านบาท และรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 21.1 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังการกู้เงินขาดดุลจำนวน -15.5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 5  เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -343.4 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -5.3 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ขาดดุลจำนวน -348.6 พันล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 54 มีจำนวน 169.8 พันล้านบาท ซึ่งการขาดดุลดังกล่าวสะท้อนถึงการทำนโยบายการขาดดุลของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนก.พ. 54 ขยายตัวร้อยละ 49.6  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 49.6   โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศ 

2) ผู้บริโภคมีความนิยมรถรุ่นใหม่ที่มีขนาดกลางและเล็กมากขึ้น และ 3) ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ 2 เดือนแรกปี 54 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 49.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทนขยายต่อเนื่องจากปี 53

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง