ภาคอุตสาหกรรมไทยพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นับแต่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ จนถึงปัจจุบันสัดส่วนภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 40% ของ GDP
น.ส.นพมาศ ช่วยนุกูล
สำนักนโยบายอุตสาหกรรมมหภาค
1) ความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมของไทยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง นับแต่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเรื่อยมา จนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519) ที่เริ่มให้ความสำคัญกับแนวทางการส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออก ต่อมาระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) มูลค่าที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมสัดส่วนสูงอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันที่สัดส่วนภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 40 ของ GDP ของประเทศ
แม้ว่านโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมจะได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ แต่ความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมของไทยอันเนื่องมาจากความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงงาน หรือวัตถุดิบที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับการมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออกในอดีตเพื่อเร่งรัดการสร้างรายได้ให้ประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเศรษฐกิจโลกไทยย่อมได้รับผลกระทบและเชื่อมโยงสู่ภาคเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมเป็นลำดับ
2) ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม
2.1 ปัจจัยภายนอกหรือบริบทโลกที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย
- การเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ที่มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน และหากรวม ASEAN +3 (ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) จะมีประชากรถึง 2,000 ล้านคน จึงหมายถึงตลาดขนาดใหญ่ที่เป็นที่หมายปองของผู้ผลิตทั่วโลก
- การเปลี่ยนแปลงในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน หรือที่เรียกว่า BRIC จะเป็นโอกาสในการขยายตลาดรวมทั้งการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ
- กฎระเบียบ ความปลอดภัยและมาตรฐาน ซึ่งนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ การนำเข้าสินค้าที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งกฎระเบียบเหล่านี้มีการปรับปรุงและยกระดับควบคู่ไปกับมาตรฐานสินค้า ตลอดจนการบังคับใช้ กฎระเบียบต่างๆ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชน ที่จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันที่ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างเร่งด่วน
- การก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี ซึ่งเชื่อมโยงสู่การเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีผลต่อคุณสมบัติคุณภาพ และต้นทุนสินค้า โดยภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวและก้าวตามให้ทัน
- ภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (Climate Change) ที่ส่งผลต่อภาคเกษตรและความต้องการพืชพลังงาน รวมทั้งประชากรโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นส่งผลให้สินค้าเกษตรมีราคาและมูลค่าสูงขึ้น
2.2 บริบทและปัจจัยภายในที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม นอกเหนือจากบริบทภายนอกที่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยแล้ว ยังมีบริบทและปัจจัยภายในที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม ได้แก่
- นโยบายรัฐบาล ตลอดจนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ปัจจุบันได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และการพัฒนาที่สมดุลยั่งยืน เป็นต้น
- คุณภาพมาตรฐาน ที่ทุกภาคส่วนได้ให้ความสนใจและเข้มงวดมากขึ้น เพื่อเป็นการดูแลและคุ้มครองผู้บริโภค
- กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ อาทิ รัฐธรรมนูญปี 50 ในมาตรา 57 และ 67 ว่าด้วยสิทธิในการรับรู้ข้อมูลและมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นก่อนการดำเนินโครงการของภาครัฐ และสิทธิในการมีส่วนร่วม บำรุงรักษาและได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งการดำเนินโครงการที่มีผลกระทบต้องได้รับการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสียก่อน หรือแนวทางปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
- ความปลอดภัย และด้านสิ่งแวดล้อม ที่เชื่อมโยงกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตลอดจนการดูแลและการบริหารจัดการกากของเสียที่เกิดจากภาคการผลิต เพื่อมิให้การดำเนินการใดๆ ของภาคการผลิตสร้างความเดือดร้อนให้กับภาคส่วนอื่นๆ
- เศรษฐกิจชุมชน ที่เป็นเศรษฐกิจฐานรากที่ต้องเสริมให้มีความแข็งแกร่ง และเชื่อมโยงกับภาคการผลิต ในลักษณะต้นน้ำ คือ ภาคเกษตรและเศรษฐกิจชุมชน กลางน้ำ คือ ภาคการผลิต และปลายน้ำ คือ การบริการและการค้า เป็นต้น
- โลจิสติกส์ ในส่วนนี้มีผลต่อต้นทุนการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย หากภาคอุตสาหกรรมของไทยให้ความสนใจในการปรับปรุง บริหารจัดการโลจิสติกส์ทั้งภายในและภายนอกให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิม ก็น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมก้าวได้ไกลยิ่งขึ้น
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญทั้งต่อโลกและต่อภาคอุตสาหกรรม กล่าวคือ ในระดับโลกก่อให้เกิดการเชื่อมโยงของตลาด (Global Market) เกิดความร่วมมือในลักษณะเครือข่าย (Global Collaboration) การใช้มาตรฐานเดียวกัน (Global Standard) การรับความเสี่ยงร่วมกัน (Global Risk) และการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน (Global Warming)
สำหรับภาคอุตสาหกรรมแล้วปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงในลักษณะเครือข่ายที่เน้นความสามารถเฉพาะด้านเพื่อให้สอดรับกับการผผลิตรูปแบบใหม่ การใช้เทคโนโลยี ภูมิปัญญา และความโดดเด่นทางวัฒนธรรมในการสร้างมูลค่าให้กับสินค้า การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการยึดหลักความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น
3) แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระยะ 20 ปี
จากกระแสการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยข้างต้น สศอ. ในฐานะองค์กรชี้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2555-2574) โดยกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ระยะ 20 ปี ไว้ดังนี้
วิสัยทัศน์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย คือ “มุ่งสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สมดุลและยั่งยืน” มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมบนพื้นฐานความรู้ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงาน และนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตลอดจนความสมดุลระหว่างชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืน
เป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ระดับโลก แบ่งเป็น
- เป้าหมายในระยะแรก (1-5 ปี) คือ การสร้างความพร้อมให้กับประเทศไทยในการก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตในระดับภูมิภาคโดยเริ่มจากการสร้างความพร้อมโดยการ ปรับ แก้ไขกฎระเบียบ ปัญหาคอขวดเพื่ออำนวยความสะดวก และลดอุปสรรคที่มีพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ (แรงงาน, วัตถุดิบ, ดึงดูดเทคโนโลยีใหม่, มาตรฐาน, R&D, Zoning, ศูนย์ทดสอบ ฯลฯ) พัฒนาคลัสเตอร์ และการเข้าไปสู่การเป็นผู้ผลิตในภูมิภาคจากการสร้าง ASEAN Supply Chain และพัฒนาการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- เป้าหมาย ระยะที่ 2 (5-10 ปี) คือ ปรับบทบาทของประเทศไทยให้เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับในอาเซียนและภูมิภาค โดยการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้า และบริหารจัดการการผลิตและจัดการเครือข่ายในภูมิภาค ยกระดับการผลิตวัตถุดิบเพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มพร้อมไปถึงการสร้างนวัตกรรมทางทรัพย์สินทางปัญญาไทย และภาพลักษณ์ตราสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับในอาเซียน/ภูมิภาค
- เป้าหมายในระยะที่ 3 (10-20 ปี) คือ การสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในด้านตราสินค้าไทยก้าวไกลตลาดโลกเป็นผู้บริหารจัดการตราสินค้าที่มีเครือข่ายการผลิตจากในภูมิภาคที่เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกอุตสาหกรรมไทยเป็นที่ยอมรับ โดยมีความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรมนุษย์
ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ
1) ยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและขยายเครือข่ายการผลิตสู่ต่างประเทศ โดยแนวทางในภาพรวมมุ่งแน้นการยกระดับและขยายเครือข่ายการผลิต การบริการและการตลาดโดยใช้ศักยภาพของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในตลาดโลก และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศโดยอาศัยศักยภาพของแต่ละประเทศในการร่วมสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยระยะ 1-5 ปี เน้นแนวทางความร่วมมือในกลุ่ม ASEAN และการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ยังจำเป็นต้องพึ่งพานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าในผลิตภัณฑ์ ส่วนระยะ 5-10 ปี เน้นการสานต่อเครือข่ายการผลิตและเพิ่มบทบาทจากการเป็นเครือข่ายการผลิตไปสู่การบริหารจัดการเครือข่ายใน ASEAN รวมทั้งพัฒนาช่องทางการตลาดในสินค้า Brand ไทยในภูมิภาค ASEAN และในระยะยาว 10-20 ปี ให้ความสำคัญกับแนวทางการขยายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่มีศักยภาพในด้านแรงงานและวัตถุดิบ เพื่อยกระดับเครือข่ายควบคู่ไปกับการขยายฐานการตลาด
2) ยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการให้เกิดความเข้มแข็งละยั่งยืน โดยแนวทางในภาพรวมมุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการให้เกิดความเข้มแข็งและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกที่ต้องการสินค้าคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่มาจากการวิจัยและพัฒนา
ทั้งนี้ ในระยะ 1-5 ปี เน้นการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่การแข่งขันระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นในด้านกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานสากล และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดจนการพัฒนาคลัสเตอร์ใหม่ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่วนระยะ 5-10 ปี มุ่งพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและการสร้างมูลค่าให้สูงขึ้น
การขยายความร่วมมือกับบริษัทใน ASEAN เพื่อเป็นฐานให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้พัฒนาและยกระดับไปสู่บริษัทชั้นนำ สำหรับระยะยาว 10-20 ปี มุ่งยะระดับความสามารถในการผลิตที่เชื่อมโยงมาจากการวิจัยและพัฒนา และการสร้างตราสินค้าที่เป็นที่นิยมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของฐานการผลิตของโลก
3) ยกระดับโครงสร้างสนับสนุนอุตสาหกรรมเพื่อการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการ โดยในภาพรวมมุ่งเน้นการยกระดับโครงสร้างและปัจจัยสนับสนุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในด้านกฎระเบียบการลงทุน สิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านการเงิน และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและยกระดับการผลิตให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยทั้งระบบ
โดยในระยะ 1-5 ปี มุ่งเน้นการปรับปรุงกฏระเบียบ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และการให้มีหน่วยงานในการสื่อข้อมูล ความรู้และประสานความเข้าใจระหว่างภาคการผลิตและภาคสังคม ส่วนในระยะ 5-10 ปี เป็นการพัฒนาและสร้างการยอมรับศูนย์วิจัยและพัฒนาสินค้าไทยในภูมิภาคเพื่อนำไปสู่บทบาทการสร้างมาตรฐานสินค้า และสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับระยะยาว10-20 ปี เน้นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกันทั้งเครือข่าย โดยเฉพาะเครือข่ายในภูมิภาคที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการเครือข่ายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในเวทีโลก
แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระยะ 20 ปี ถือเป็นนโยบายระยะยาวที่ สศอ. ในฐานะหน่วยงานจัดทำนโยบายและแผนของกระทรวงอุตสาหกรรม เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมองและวางแผนพัฒนา รวมทั้งเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มากกว่าการนำเสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้แผนพัฒนาอุตสาหกรรม ระยะ 20 ปีจะได้กำหนดทิศทาง เป้าหมาย และยุทศศาสตร์ที่ครอบคลุมในหลายมิติไว้อย่างสมดุลแล้ว
แต่การที่แผนฯ จะบรรลุผลหรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับการผลักดันแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติด้วยเช่นกัน ทั้งยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนและภาครัฐกระทรวงอุตสาหกรรมแม้จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนนี้แล้วยังต้องประสานการพัฒนากับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ ศึกษาธิการ แรงงาน ฯลฯ เพื่อบูรณาการนโยบายและแผน
นอกจากนี้ แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระยะ 20 ปี ที่ สศอ. จัดทำขึ้นและได้นำเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 ส่วนการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปก็คือ การนำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมระยะ 20 ปี เพื่อไปกำหนดตัวชี้วัดเพื่อให้สะท้อนความสำเร็จของแผนแต่ละระยะได้อย่างเหมาะสม รวมถึงจัดทำแผนปฏิบัติการ/ โครงการ เพื่อนำเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
และท้ายสุดที่ สศอ. คาดหวังก็คือ ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะสามารถปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงภายใน/ ข้อจำกัดของประเทศในด้านต่างๆ เพื่อคงความสามารถและโอกาสในการแข่งขัน สร้างความเท่าเทียมและความอยู่ดีมีสุขให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นหัวใจและเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาประเทศ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม