1. ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน ก.พ. 54 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 108.2
- ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน ก.พ. 54 ว่าค่าดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 108.2 จากระดับ 112.7 ในเดือนม.ค. 54 ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นครั้งแรกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลงดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาน้ำมันซึ่งเปรียบเสมือนต้นทุนที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.พ. 54 ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 100 ซึ่งสะท้อนถึง ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในระดับที่ดี และบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในระยะต่อไป
2. ธนาคารกลางอินเดียปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ 6.75
- ธนาคารกลางอินเดียปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (repurchase rate) เป็นครั้งที่ 8 ในรอบ 1 ปี มาอยู่ที่ร้อยละ 6.75 จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 6.50 เพื่อควบคุมแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเร่งขึ้นจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอินเดียดังกล่าวเกิดจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยในเดือน ก.พ. 54 อัตราเงินเฟ้ออยูที่ร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 8.2 ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยในวันที่ 16 มี.ค. 54 ราคาน้ำมันอยู่ที่ 103.91 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 จากต้นปี 54 ส่งผลให้ สศค. คาดว่า ธนาคารกลางอินเดียอาจมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อควบคุมแรงกดดันจากเงินเฟ้อดังกล่าว
3. ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างหนักกว่า 240 จุดหรือร้อยละ 2.04
- ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างหนักกว่า 240 จุดหรือร้อยละ 2.04 จากแรงเทขายอย่างต่อเนื่องของนักลงทุน ที่ยังมีความกังวลเนื่องจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิที่ถล่มญี่ปุ่นอย่างรุนแรงเมื่อ 11 มี.ค. 54 ส่งผลให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว
รวมถึงการขาดแคลนพลังงานจากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆก็ปรับตัวลดลงด้วย ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.80 ดอลลาร์ สรอ.
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เศรษฐกิจยุโรปรวมถึงเศรษฐกิจโลกจะยังคงชะลอตัวอยู่ เนื่องจากญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้เวลาในการในการฟื้นฟูประเทศจากภัยพิบัติและควบคุมการระเบิดเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือจากการรั่วไหลของสารกำมันตะรังสีจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้คาดว่าน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวร้อยละ 0.2-0.3 ซึ่งจะอาจส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอลงจากที่คาดไว้ก่อนหน้า เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในปีที่ผ่านมา
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง