ไฟฟ้าเป็นอีกภัยหนึ่งที่มักเกิดกับเด็กเล็กที่อยู่ในวัยกำลังซุกซน อยากรู้อยากเห็น จะระวังภัยอย่างไรไม่ให้เกิดกับเด็ก
ระวังอุบัติภัยจากไฟฟ้า
ภัยใกล้ตัวที่มักเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก
จากสถิติอุบัติภัยในเด็ก พบว่า อุบัติภัยจากไฟฟ้าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 1-5 ปี มีความเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูดมากที่สุด เพราะเด็กในวัยดังกล่าวมักจะซุกซน และอยากรู้อยากเห็น เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ออกมาแนะวิธีป้องกันอุบัติภัยจากไฟฟ้าในเด็ก การช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเมื่อเด็กถูกไฟฟ้าดูดไว้ดังนี้
1. ผู้ปกครองควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัยจากอุบัติภัยจากไฟฟ้า โดยติดตั้งปลั๊กไฟให้สูงจากระดับพื้นประมาณ 1.5 เมตร หากติดตั้งปลั๊กไฟในระดับต่ำที่เด็กเอื้อมมือถึง ควรใช้ที่ครอบปลั๊กไฟ เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ
2. ไม่วางสายไฟหรือรางปลั๊กไฟกีดขวางทางเดินหรือผนังในจุดที่เด็กสามารถหยิบจับได้ เพราะเด็กอาจนำสายไฟหรือรางปลั๊กไฟมาเล่นจนถูกไฟฟ้าดูดได้
3. รวมถึงควรติดตั้งสายดินหรือเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติเพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าดูด
4. อีกทั้งควรดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังบริเวณที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า
5. หลังจากใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสร็จแล้ว ให้ถอดปลั๊กเครื่องไฟฟ้าและจัดเก็บให้พ้นมือเด็ก
6. ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกบ้านที่ตั้งอยู่ในบริเวณเปียกชื้นหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีน้ำเกี่ยวข้องกับระบบการทำงาน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว เป็นต้น
7. ควรสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงอันตรายของไฟฟ้าและการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี
วิธีช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเด็กถูกไฟฟ้าดูด
• การช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเด็กถูกไฟฟ้าดูด ให้ถอดปลั๊กหรือสับคัทเอาท์เพื่อตัดกระแสไฟฟ้า จากนั้นให้หาวัตถุที่มีฉนวนกันไฟฟ้าหรือไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เขี่ยสายไฟให้หลุดจากตัวเด็ก หรือใช้เชือกหรือผ้าคล้องตัวเด็กที่ถูกไฟฟ้าดูดออกมา
• สำหรับผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือร่างกายต้องไม่เปียกชื้น และห้ามสัมผัสถูกตัวเด็กที่ถูกไฟฟ้าดูดโดยตรง เพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าดูด
• หากเด็กที่ถูกไฟฟ้าดูดไม่รู้สึกตัว และหัวใจหยุดเต้น ให้นวดหัวใจพร้อมผายปอด จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลและปฐมพยาบาลตลอดเวลาจนกว่าชีพจรจะกลับมา
• ทั้งนี้ การปฐมพยาบาลผู้ถูกไฟฟ้าดูด ต้องทำในทันทีภายใน 4-6 นาที หากล่าช้าเกินกว่า 6 นาที ผู้ถูกไฟฟ้าดูดจะมีโอกาสฟื้นตัวได้น้อยมาก
สุดท้ายนี้ หากผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่บุตรหลานอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย โดยติดตั้งสายไฟ ปลั๊กไฟให้พ้นมือเด็ก จะช่วยลดความเสี่ยงอุบัติภัยจากไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กระทรวงหาดไทย