1. ธปท.พร้อมผ่อนเกณฑ์ช่วยลูกค้าแบงก์รับผลกระทบญี่ปุ่น
- รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ประสบปัญหา ธปท.พร้อมจะพิจารณาผ่อนผันหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ในการดูแลช่วยเหลือลูกค้าไม่ให้เกิดภาวะล้มละลายหรือธุรกิจย้ำแย่ ให้เกิดความคล่องตัวในเรื่องต่างๆ
เช่น การขยายวงเงินให้สินเชื่อหมุนเวียนหรือเพ็คกิ้งเครดิต การขยายการถือครองเงินตราต่างประเทศที่ได้มาจากาการค้าขายได้นานขึ้น ฯลฯ เพื่อประคับคองกิจการให้เดินต่อไปได้ในช่วงที่ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นสถานการณ์พิเศษธปท.ก็พร้อมจะผ่อนผัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์สินเชื่อในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน ม.ค. 54 สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันเงินฝากขยายตัวร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินเชื่อที่ขยายตัวหลักมาจากสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีนโยบายการสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น
2. เปิดเสรีการค้าอาเซียน – จีน 1 ปี ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดในจีน 41.8 %
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการศึกษาเรื่อง “ประเมิน 1 ปี อาเซียน-จีน” ว่า สถิติการค้าช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหลังข้อตกลงอาเซียนและจีนเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 53 ส่งผลให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในจีนลดลงร้อยละ 41.8 แบ่งเป็นสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 36.2 ขณะที่สินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 5.6 โดยสินค้าที่เสียตลาดมากที่สุด คือ น้ำตาล ข้าว ผักและผลไม้ ขณะที่เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 53 จีนได้กลายเป็นคู่ค้าของไทยเป็นอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 11.0 ของตลาดส่งออกรวม สูงขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 10.6 ของตลาดส่งออกรวม โดยมีมูลค่าการส่งออก 21,473 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 33.2 เมื่อทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงอาเซียน-จีน จะมีผลบังคับใช้สมบูรณ์พร้อมกับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 โดยไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งในในรายสินค้าสร้างช่องทาง และโอกาสให้กับสินค้าไทยได้กระจายเข้าสู่ตลาดอาเซียนให้มากขึ้น
3. ญี่ปุ่นอัดเงินเพิ่ม 5 ล้านล้านเยนพยุงเศรษฐกิจ
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เสนออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารเพิ่มอีก 5 ล้านล้านเยน (6.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) หลังประกาศอัดฉีดครั้งใหญ่ไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 53 ที่จำนวน 15 ล้านล้านเยน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพยุงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจญี่ปุ่น หลังเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ รวมทั้งความเสี่ยงด้านสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ความต้องการกู้เงินยังอยู่ต่ำกว่าปริมาณเงินที่บีโอเจเสนอปล่อยกู้ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า BOJ กำลังอัดฉีดเงินในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ตลาดจะดูดซับได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มสภาพคล่องของธนาคารกลางญี่ปุ่นจะสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะกลางถึงระยะยาว อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 15 มี.ค.54 ค่าเงินเยนปิดระดับอยู่ที่ 81.38 เยน อ่อนค่าลงจาก 81.89 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 ซึ่งการอ่อนค่าลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัยภายหลังที่ BOJ ประกาศผล MPC (1) คงดอกเบี้ย 0-0.10% ตามเดิม
(2) ประกาศเพิ่มสภาพคล่องดูแลระบบการเงินมูลค่าราว 15 ล้านล้านเยน (183 พันล้าน USD) (3) เพิ่มมูลค่า Asset Purchase Program เป็น 10 ล้านล้านเยน จากเดิม 5 ล้านล้านเยน (4) ดัชนีหลักทรัพย์ญี่ปุ่น NIKKEI-225 ลดลงร้อยละ 16.18 จาก ณ วันที่ 11 มี.ค.54 นอกจากนี้ Moody’s ได้ประกาศว่าการที่รัฐบาลญี่ปุ่นขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งเป็นผลทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงคิดเป็นร้อยละ -0.62 นับจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง