เนื้อหาวันที่ : 2007-03-15 13:40:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1434 views

รัฐฯ ขิงแก่ สั่งยกเลิกการค้าต่างตอบแทน มรดก "ทักษิโณมิกส์"

คณะรัฐมนตรีรัฐบาลขิงแก่ไฟเขียวยกเลิก การค้าแบบแลกเปลี่ยนและต่างตอบแทน นโยบายระบอบ "ทักษิโณมิกส์" ชี้ปัญหาสารพัด เลี่ยงการแข่งขัน มีเงื่อนไขและขั้นตอนยุ่งยาก ทำให้ราคาสินค้าที่จัดซื้อเพิ่มสูงขึ้น แถมโครงการยังล่าช้าอีก ไม่มีข้อดี มีแต่ผลเสียทั้งนั้น!

ร.อ.นพ. ยงยุทธ  มัยลาภ  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  ครม.มีมติอนุมัติให้ยกเลิกโครงการการค้าต่างตอบแทนและยกเลิกการค้าแบบแลกเปลี่ยน  โดยให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการการค้าต่างตอบแทน  พ.ศ. 2547  และยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้อยการค้าแบบแลกเปลี่ยน  พ.ศ. 2549 ทั้งนี้  สำหรับการค้าแบบแลกเปลี่ยนที่มีข้อผูกพันตามมติ  ครม.ที่ออกไปแล้วก่อนหน้านี้  ให้ปฏิบัติต่อไป  เว้นแต่ ครม. จะมีมติเป็นอย่างอื่น  ส่วนสัญญาการซื้อตอบแทนและการค้าแบบแลกเปลี่ยนที่ได้ลงนามไปแล้วให้ดำเนินการต่อไป  จนเสร็จสิ้นและในกรณีที่จะต้องนำวิธีการซื้อขายแบบต่างตอบแทน  หรือการค้าแบบแลกเปลี่ยน  มาใช้ในการบริหารจัดการสินค้าในสต๊อกรัฐบาลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอ  ครม. เป็นกรณี ๆ ไป

.

ก่อนหน้านี้ได้มีการร้องเรียนจากหน่วยงานที่ปฏิบัติ  ภายใต้ประกาศและระเบียบดังกล่าวอย่างต่อเนื่องว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ  ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก  กระทรวงพาณิชย์จึงได้ประชุมทุกฝ่าย  เห็นตรงกันว่าเห็นควรให้มีการยกเลิกการค้าต่างตอบแทนและการค้าแบบแลกเปลี่ยน

.

กระทรวงพาณิชย์ยังสรุปข้อดีข้อเสียของการค้าต่างตอบแทนและการค้าแบบแลกเปลี่ยนว่าในส่วนข้อดีนั้น  หากกำหนดให้สินค้าต่างตอบแทนหรือสินค้าที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าในสต๊อกรัฐบาล  เช่น ข้าว จะส่งผลให้สามารถระบายข้าวในสต๊อกได้จำนวนหนึ่ง  และเป็นการสนับสนุนโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรด้วย

.

ในส่วนของข้อเสียมากกว่า  คือ 1. ผู้ขายสินค้าในส่วนของราชการหรือรัฐวิสาหกิจ  ที่ผนวกข้อกำหนดการค้าต่างตอบแทนหรือการค้าแบบแลกเปลี่ยน ในข้อเสนอเพื่อให้ดูเสมือนว่าจะเป็นการเสนอขายที่พิเศษกว่าการเสนอขายแต่เฉพาะสินค้า  เพื่อที่จำได้รับพิจารณาเป็นพิเศษซึ่งอาจทำให้ขายสินค้าโดยไม่ต้องใช้ระบบการประมูล ถือเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขัน

.

2.ต้นทุนที่เกิดจากการค้าต่างตอบแทนหรือการค้าแบบแลกเปลี่ยน  จะทำให้ราคาสินค้าที่จัดซื้อเพิ่มสูงขึ้น  เนื่องจากบริษัทผู้ขายสินค้าไม่สามารถดำเนินการค้าต่างตอบแทน  หรือการค้าแบบแลกเปลี่ยนได้ด้วยตนเอง  จึงต้องจ้างบริษัทอื่นบริหารจัดการแทน  ซึ่งอัตราค่าจ้างสูง  จากนั้นบริษัทผู้ขายจะผลักภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นผลให้ต้องซื้อสินค้าในราคาสูงขึ้น

.

3.ผลประโยชน์นโยบายการค้าต่างตอบแทนหรือการค้าแบบแลกเปลี่ยน  จะตกอยู่บริษัทที่เข้ามารับจ้างบริหารจัดการแทน  และ

4.  การเจรจาต่อรองสินค้าและเงื่อนไขต่าง ๆ หาข้อยุติยาก  ไม่ทันกรอบเวลา  ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อแผนการดำเนินโครงการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมาก

.

หากเป็นโครงการเร่งด่วนก็จะหาคนที่ยอมทำการค้าแลกเปลี่ยนได้ลำบาก  และหากเป็นโครงการที่มีการกู้ยืมเงินต้องจ่ายคืนเงิน  จะทำการค้าแบบแลกเปลี่ยนไม่ได้  ร.อ.นพ. ยงยุทธ  กล่าว

.

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า  การที่ครม. ยกเลิกการค้าแบบแลกเปลี่ยนนั้นเท่าที่หารือกับภาคเอกชนให้ความสนับสนุน  เพราะไม่มีใครอยากใช้วิธีทำการค้า  โดยหากใช้ระบบนี้ต้องบวกราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากปกติ  โดยกรณีการค้าแบบบาร์เตอร์เทรดจะบวกราคาเพิ่ม  5-7 % ขณะที่การค้าต่างตอบแทนหรือเคาเตอร์เทรด  จะมีการเพิ่มราคาสินค้า  2 % ทำให้ราคาสูงกว่าความจำเป็น ในส่วนของโครงการที่ได้อนุมัติไปแล้ว  ก่อนหน้านี้จะยังเดินหน้าต่อไปและครม.ได้ระบุว่าบางกรณีที่เห็นได้ว่ามีความเหมาะสมสามารถใช้วิธีการจัดซื้อแบบบาร์เตอร์เทรดได้