เนื้อหาวันที่ : 2011-03-16 10:00:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 954 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 7-11 มี.ค. 2554

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 54 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,263.0 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 19.1 พันล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 41.9 ของ GDP  ทั้งนี้ การลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงและหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) โดยลดลงสุทธิ 17.9 และ 6.0 พันล้านบาท ตามลำดับ  ซึ่งสะท้อนว่าสถานะหนี้สาธารณะของไทยมีความมั่นคง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP

รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.พ. 54 มีจำนวนทั้งสิ้น 129.9 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33.1 และสูงกว่าประมาณการ 14.6 พันล้านบาทหรือร้อยละ 12.7 สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและรายได้ประชากร โดยภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในเดือน ก.พ. 53 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.8

ในขณะที่ภาษีฐานรายได้ (ผลรวมของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ขยายตัวร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า สะท้อนการจ้างงานและรายได้จากการประกอบธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในเดือน ก.พ. 54 ขยายตัวร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อน  ที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 และหากปรับผลทางฤดูกาลแล้วจะขยายตัวร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า  โดยได้รับปัจจัยบวกจากกำลังซื้อของประชาชนและภาคการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่ยังคงขยายตัวในระดับสูง   บ่งชี้ว่าการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวในเกณฑ์ดี และจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือนก.พ. 54 ขยายตัวร้อยละ 49.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 76.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกลดลงร้อยละ -3.3 จากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value: LTV) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 54

อย่างไรก็ดี การขยายตัวดังกล่าวบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีหลังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ รวมทั้งอุปสงค์เพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง.

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจารคลัง