เนื้อหาวันที่ : 2011-03-15 09:38:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2936 views

หวั่นสึนามิถล่มยักษ์เศรษฐกิจเอเชีย กระทบวงกว้าง

นิด้า คาดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มญีปุ่น จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง แนะรัฐบาลไทยหามาตรการรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการส่งออก

นิด้า คาดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มญีปุ่น จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง แนะรัฐบาลไทยหามาตรการรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการส่งออก

ผู้อำนวยการ MPA Executive Program Bangkok สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) คาดเหตุภัยธรรมชาติ หรือ สึนามิเข้าถล่มญี่ปุ่น ในวันศุกร์ที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบในวงกว้างกับระบบเศรษฐกิจ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เหตุจากความกังวลที่ยากต่อการคาดการณ์ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ภายหลังจากประเทศญี่ปุ่นต้องประสบกับภัยธรรมชาติแผ่นดินไหว ต่อด้วยคลื่นยักษ์สึนามิเข้าถล่มประเทศ เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมาในย่านอุตสาหกรรมและพื้นที่เกษตรกรรม

ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความสูญเสียต่อชีวิตเป็นจำนวนมาก ยากต่อการประเมินค่าได้นั้น หลายฝ่ายต่างตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากระดับความรุนแรงในครั้งนี้ มีระดับที่สูงมากเป็นอันดับ 5 ของโลกจากเหตุการณ์ทั้งหมดในอดีตที่เคยเกิดขึ้น

ทั้งนี้ เหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนก และผลกระทบร้ายแรงเป็นอย่างมากกับประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากพื้นที่ที่ประสบเหตุเป็นเขตเมือง อยู่ในย่านอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในบริเวณกว้าง ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขั้นรุนแรงเช่นนี้ในพื้นที่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศ ย่อมเกิดผลกระทบกับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ขณะนี้คาดได้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่นในปีนี้ จะเกิดการชะลอตัวลงประมาณ 0.2 เปอร์เซ็นต์จากที่ประมาณการไว้ที่ 1.7 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากภาคการส่งออกของประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตลอดจนธุรกรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในภาครวมจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาจากความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่นในปีนี้ จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเกิดผลกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก” รศ.ดร.มนตรีกล่าว

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศก็มีไม่เพียงพอ เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดความเสียหาย อุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีไฟฟ้าเป็นหนึ่งในกระบวนการผลิตจึงจำเป็นต้องหยุดชะงักลง รวมทั้งโรงกลั่นน้ำมันของประเทศญี่ปุ่น ก็ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ถึงขนาดต้องสั่งการให้ปิดตัวลง ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันในประเทศญี่ปุ่น มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยนี้เองจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้ ภาวะระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกเกิดการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะสั้น

ในส่วนของตลาดเงิน ตลาดทุนและตลาดทองคำ ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้เช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คาดการณ์ได้ว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นจะเกิดความผันผวนลดลง ในระยะกลางค่าเงินเยนจะเกิดการอ่อนตัวลง และระดับราคาทองคำจะเกิดการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะสั้น

ส่วนประเทศไทย ซึ่งมีการพึ่งพาภาคต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ทั้งความสัมพันธ์ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการนำเงินเข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในไทย ต้องหยุดชะลอตัวลง

เนื่องจากญี่ปุ่นคงต้องมีการสนับสนุนความช่วยเหลือ ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างประเทศกับประเทศญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของภาคการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ภาคการส่งออกในช่วงระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า จะเกิดการชะลอตัวลง เพราะภาคการส่งออกของไทยมีความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างประเทศกับญี่ปุ่นในสัดส่วนที่มาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ไทยส่งออกมากในปีที่ผ่านมา จะเกิดการชะลอตัวลง

เนื่องจากเกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนบางอย่าง วัสดุบางชนิด ที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับอุตสาหกรรมในประทศญี่ปุ่นเช่นนี้ ภาคการผลิตของไทยย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เอง การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีการคาดการณ์กันว่า จะสามารถขยายตัวได้ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้อาจจะไปไม่ถึง เนื่องจากผลกระทบด้านการส่งออกที่ต้องชะลอตัวลง

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA นิด้า ยังกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะกระทบกับระบบเศรษฐกิจภายในประเทศเองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจภายนอกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

ปัจจัยใดที่สร้างผลกระทบให้เกิดกับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภายใน ย่อมส่งผลกระจายวงกว้างไปยังประเทศอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันด้านการลงทุน รวมทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะไทยที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงด้านการค้า และด้านการลงทุนกับญี่ปุ่นในสัดส่วนที่มาก ดังนั้น การเตรียมพร้อมตั้งรับต่อทุกสถานการณ์อย่างมีสติ จึงมีความเหมาะสมอย่างที่สุด ทั้งนักลงทุน และประชาชนทุกฝ่ายไม่ควรตื่นตระหนกต่อสถานการณ์

ขณะที่รัฐบาลไทยควรมีมาตรการแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการส่งออก หากเกิดภาวะสั่นคลอนในระบบเศรษฐกิจในประเทศยาวนาน ทั้งนี้ ผลกระทบจะเกิดมากน้อย และยาวนานเพียงใดนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลญี่ปุ่น ว่าจะสามารถแก้ไขภาวะดังกล่าวได้ในระยะเวลาเท่าใด