เนื้อหาวันที่ : 2007-03-15 11:01:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2597 views

เวที KM Research เผยงานวิจัยด๊อกเตอร์ต้องชี้นำสังคมได้

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมพลอาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษาปริญญาโทและเอก เพื่อกระตุ้นให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ KM Research ครั้งที่ 4 โดยเชิญอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย พร้อมด้วยนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจากทุกสถาบันเข้าร่วมงานเพื่อกระตุ้นให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ การทำวิจัยการจัดการความรู้ (research on top Knowledge Management: KM) ของกลุ่มอาจารย์ที่ปรึกษา, นักวิจัย, นักศึกษา ข้ามสถาบัน อีกทั้งเพื่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาคุณภาพงานวิจัย หรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ (KM) ในทุกบริบทของสังคมไทย นอกจากนี้ยังได้ประเด็นวิจัยที่มีลำดับความสำคัญสูง และวิธีวิทยาของการวิจัยด้านการจัดการความรู้อีกด้วย

 .

 

 .

รศ.ดร.อรจารีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง อาจารย์คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษางานวิจัยด้านการจัดการความรู้ กล่าวว่า ประเด็นวิจัยกับโจทย์วิจัยนักวิจัยส่วนใหญ่จะใช้เวลาค้นคว้าอยู่แต่ในห้องสมุด หรือคอมพิวเตอร์ แต่ปัจจุบันนักวิจัยจะทำเช่นนั้นไม่ได้อีกต่อไปเพราะ การจัดการความรู้ หรือ KM จะเป็นเครื่องมือในการช่วยให้ได้มาซึ่งคำตอบที่มีคุณภาพ ดั้งนั้น ณ เวลานี้ การทำการวิจัยด้านจัดการความรู้ จึงมี 2 ส่วนคือ การวิจัยการจัดการความรู้ หรือ KM เพื่อให้เกิดการพัฒนาศาสตร์ หรือเครื่องมือเพื่อการพัฒนาและการใช้การจัดการความรู้หรือKM เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งคำคอบโจทย์วิจัยที่มีคุณภาพ

 .

ขณะที่ ผศ.ดร.สมชาย นำประเสริฐชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหางานวิจัยในปัจจุบันของไทยพบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ ถือระเบียบวิธีวิจัยที่ผิด ๆ และติดอยู่กับกรอบเดิม ๆ  ทำให้งานวิจัยไม่ได้เกิดคำตอบที่แปลกใหม่ขึ้นมาในสังคม สังเกตจากโจทย์วิจัยที่นักศึกษาเสนอมาส่วนใหญ่เป็นการตั้งโจทย์ที่มีคำตอบอยู่แล้วในสังคมโดยไม่ต้องวิจัย ทำให้เห็นภาพชัดว่าการผลิตงานวิจัยในปัจจุบันไม่ได้ตอบปัญหาให้กับสังคมเท่าที่ควรจะเป็น

 .

.

ด้านรศ.ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มากด้วยประสบการณ์ด้านการเรียนรู้ของชุมชน ฯลฯ กล่าวว่า การศึกษาระดับปริญญาโท-เอกในสังคมไทย น่าจะมีนัยยะสำคัญอะไรบางอย่างแตกต่างจากคนที่จบปริญญาตรี เพราะคนจบปริญญาตรีทำได้แทบทุกอย่างไม่มีอะไรที่คนจบปริญญาตรีทำไม่ได้ ฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาระดับปริญญาโท-เอก น่าจะเป็นการศึกษาโดยมีเป้าหมายในการชี้นำสังคม โดยเฉพาะการผลิตงานวิจัยที่ตอบปัญหาในสังคม อีกทั้งสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สร้างเมล็ดพันธ์ที่ดีน่าจะเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญาเอก

 .

ทั้งนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผอ.สคส. กล่าวว่า เวทีนี้ เกิดขึ้นจากการที่มีนักศึกษาระดับปริญญาโท - เอก  รวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ หลากหลายสาขา และสถาบันเข้ามาติดต่อขอคำแนะนำการทำวิทยานิพนธ์กับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เป็นจำนวนมากก   สคส. จึงได้ริเริ่มจัด ดังนั้น  เวทีแรกเมื่อปี 2548 ในตอนนั้นจึงพุ่งเป้าไปที่การสร้าง  ชุมชนนักศึกษาที่กำลังทำวิทยานิพนธ์  ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์   ขณะเดียวกัน  ก็มีวง  อาจารย์ที่ปรึกษา  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตีคู่ขนานกันไปด้วย  กระทั่งในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 4 นี้ มีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญคือการเรียนรู้วิธีการตั้งโจทย์วิจัย และการตอบโจทย์วิจัย

 .

อย่างไรก็ตามในการจัดงานครั้งนี้ยังเกิดเครือข่ายของอาจารย์และนักศึกษาข้ามมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน หลังจากจบเวทีนี้ ได้มีการหารือที่จะไปจัดเวทีในลักษณะนี้ในสถาบันอุดมศึกษาอื่น เช่น ครั้งที่ 5 ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ก็จะมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพ อีกด้วย