เนื้อหาวันที่ : 2011-03-14 14:56:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1280 views

เผยสถานการณ์ราคาน้ำมันส่อเค้าพุ่ง เกิดภาวะตึงตัว

ปตท. เผยสถานการณ์ราคาน้ำมัน 7-11 มี.ค. เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 เหรียญต่อบาร์เรล แนะสัปดาห์นี้จับตาคาดการณ์องค์การพลังงานสากล

ปตท. เผยสถานการณ์ราคาน้ำมัน 7-11 มี.ค. เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1 เหรียญต่อบาร์เรล แนะสัปดาห์นี้จับตาคาดการณ์องค์การพลังงานสากล

ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับประมาณ 109.77 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับประมาณ 103.74 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.05 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลอยู่ที่ระดับประมาณ 114.39 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้เหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมีการใช้อาวุธหนักและจรวดในการปะทะกัน

กอปรกับสำนักงานสถิติแห่งชาติของอินเดียรายงานปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของประเทศอินเดียปี 2553 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.1% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ GDP ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.9% อยู่ที่ 8.6% นอกจากนี้รายงานทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ บ่งชี้ทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อาทิ ยอดขายปลีกในเดือน ก.พ. 54 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. 54 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.7%

นอกจากนี้คณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าของสหรัฐฯ รายงานนักลงทุนเข้าซื้อสุทธิในตลาดซื้อขายน้ำมันดิบ WTI ล่วงหน้าสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มี.ค. 54 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 30% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซิน และดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น จากข่าวอินโดนีเซียมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Balikpapan เป็นเวลา 40 วัน เริ่มต้นปลายเดือน มี.ค. 54 และจีนงดการส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน มี.ค. 54 เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศอยู่ในระดับสูง

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าอุปทานน้ำมันดีเซลระหว่างเดือน เม.ย. - มิ.ย. 54 จะตึงตัว เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคปิดซ่อมบำรุง (ปริมาณการผลิตรวม 2.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 6.8% ของปริมาณการผลิตในภูมิภาค) ทั้งนี้ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 121.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (+1.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) และดีเซล 129.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (+2.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล)

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน
          + นักลงทุนมีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ปะทะกันรุนแรงระหว่างฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลล่าสุดท่าส่งออกน้ำมัน 2 แห่งปิดดำเนินการ

          + Energy Information Administration รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบ Gasoline และ Distillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มี.ค. 54 (หน่วย : ล้านบาร์เรล)

          น้ำมันดิบ อยู่ที่ 348.9 (+2.5)
          Gasoline อยู่ที่ 229.2 (-5.5 )
          Distillates อยู่ที่ 155.2 (-4.0 )
          + Info Resource ของสหรัฐฯ รายงานโรงกลั่นสหรัฐฯ มีแผนปิดซ่อมบำรุงในปี 2554 อยู่ที่ระดับประมาณ 3.3 ล้านบาร์เรล ลดลงจากปีก่อน 0.34 ล้านบาร์เรล

          + กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดขายปลีกในเดือน ก.พ. 54 เพิ่มขึ้น 1% (M-O-M) อยู่ที่ 3.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน และเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 8 เดือน

          - OPEC รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. 54 เพิ่มขึ้น 0.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน (M-O-M) อยู่ที่ 30.02 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่ ธ.ค. 51 หากไม่รวมอิรักผลิตที่ 27.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน

          - 11 มี.ค. 54 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ รุนแรงที่สุดในรอบ 140 ปี ที่ประเทศญี่ปุ่น จุดศูนย์กลางของ แผ่นดินไหวบริเวณนอกชายฝั่งของเมือง Sendai ประมาณ 123 กม. และห่างจากกรุงโตเกียว 370 กม. ทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดยักษ์มีความสูงประมาณ 10 เมตร ที่เมือง Miyaki และ Fukushima ทั้งนี้โรงกลั่นน้ำมันอย่างน้อย 5 แห่ง ปริมมณการผลิตรวมประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 4 แห่ง หยุดดำเนินการ

แนวโน้มสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI จะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 96-103 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนเนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจากแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิที่ญี่ปุ่นส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่ามหาศาลปัจจัยดังกล่าวยังส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อความต้องการใช้น้ำมัน และรัฐบาลยังต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูประเทศจากความเสียหาย

อย่างไรก็ตามนักลงทุนคลายความกังวลต่อวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปภายหลังจากการประชุมผู้นำกลุ่ม Euro Zone 17 ประเทศตกลงเพิ่มวงเงินรักษาเสถียรภาพทางการเงินของยุโรป (European Financial Stability Facility: EFSF) จาก 2.5 แสนล้านยูโร เป็น 4.4 แสนล้านยูโร

ให้ติดตามคาดการณ์อุปสงค์ และอุปทานน้ำมันของโลกจากองค์การพลังงานสากลที่จะประกาศในวันที่ 15 มี.ค. นี้ และตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีผู้บริโภค และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่จะประกาศในสัปดาห์นี้