พาณิชย์เปิด Hot line ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มญี่ปุ่น
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
พาณิชย์เปิด Hot line ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มญี่ปุ่น
นายฉัตรชัย ชูแก้ว โฆษกประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในแต่ละกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาแผ่นดินไหวจนเกิดสึนามิในประเทศญี่ปุ่นเป็นการเร่งด่วน โดยจัดตั้ง Hot Line เพื่อช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้ส่งออกที่มีปัญหาในด้านต่าง ๆ เช่น สินค้าตกค้างที่ท่าเรือ, สินค้าส่งออกไม่ได้ เป็นต้น
โดยให้ผู้ส่งออกโทรขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ Hot Line 1169 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป รวมทั้งจะทำการขอความช่วยเหลือไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ผ่อนผันกับผู้ส่งออกที่เมื่อถึงกำหนดส่งสินค้า แต่ส่งออกไม่ได้ โดยให้ธนาคารต่าง ๆ อนุญาตให้เลื่อนกำหนดระยะเวลาตัด Packing Credit จาก 4 เดือน เป็น 6 เดือน
ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว เมื่อถึงกำหนดของการส่งมอบสินค้าตามระยะเวลา Packing Credit ต้องไม่เกิน 4-6 เดือน แล้วแต่ธนาคาร แต่กรณีที่เกิดปัญหาจากภัยธรรมชาติ จึงคิดว่าธนาคารควรยืดเวลาการส่งออกอีก 2 เดือน จากกำหนดเดิม โดยไม่ถือเป็นการ Over due เพราะส่งมอบไม่ทันกำหนดเวลา
โดยผู้ส่งออกไม่ต้องหาเงินบาทมาชำระก่อนจนกว่าจะถึงเวลาอีกครั้งภายใน 2 เดือนถัดไป ซึ่งถ้าทำได้จะทำให้ผู้ส่งออก ลดผลกระทบได้มาก โดยสามารถรอส่งสินค้าหลังจากเหตุการณ์ทางลูกค้าปลายทางกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เพราะถ้าธนาคารไม่เปลี่ยนกฎระเบียบการเลื่อนส่งมอบออกไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อายุ Packing Credit ครบ 4 เดือน ธนาคารจะหยุดรอเงินสินเชื่อทั้งหมดทันที โดยหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจาก ธปท.ให้ผ่อนคลายกฎระเบียบนี้ชั่วคราว เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ส่งออก
นอกจากนี้ กรณีสินค้าตกค้างที่ท่าเรือญี่ปุ่น และไม่สามารถติดต่อกับใครได้ ก็จะให้ทูตพาณิชย์ช่วยประสานงานแจ้งปัญหาไปยังสายเรือต่าง ๆ อีกครั้ง เพื่อช่วยตรวจสอบและเก็บรักษาสินค้าให้กับผู้ส่งออกอย่างปลอดภัย พร้อมปรับแผนการส่งออกในระยะกลางและยาวเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในปี 2554
อีกทั้ง ยังได้สั่งการให้หน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม SME หรือกลุ่มผู้ส่งออกอื่น ๆ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับบริจาคช่วยเหลือคนไทยในญี่ปุ่น หรือชาวญี่ปุ่นที่ประสบภัย โดยการส่งความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เงิน ข้าว และอื่น ๆ ตามความต้องการ ตลอดจนความเดือดร้อนอื่น ๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขส่งออกไปญี่ปุ่นในช่วงปีที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 10-11 ของยอดส่งออกไทยทั้งหมด และเป็นตลาดสำคัญของไทย
โดยอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ส่งออกไปญี่ปุ่น 10 อันดับแรก ได้แก่ ยางพารา, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, ไก่แปรรูป, เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง, เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว, อาหารทะเลกระป๋องและอาหารแปรรูป, ผลิตภัณฑ์พลาสติก จึงต้องเร่งหามาตรการลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวต่อไป
ที่มา : สำนักข่าวไทย, เว็บไซต์รัฐบาลไทย