1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 72.2
- รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนก.พ. 54 ว่าดัชนีดังกล่าว ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 72.2 ลดลงจากระดับ 72.6 ในเดือนก่อนหน้า จากความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพ ที่คาดว่าจะปรับตัสเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และยังกังวลเรื่องการเมือง รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
- สศค.วิเคราะห์ว่า การปรับลดลงของดัชนีดังกล่าว สอดคล้องกับความกังวลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญของโลก ซึ่งราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะส่งผลให้แรงกดดันจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และจะส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนในประเทศ
ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกทั้งปี 54 จะอยู่ที่ 83.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ช่วงคาดการณ์ 78.0-88.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คาดเมื่อ ธ.ค. 53) อย่างไรก็ตาม อาจมีการปรับเพิ่มประมาณการราคาน้ำมันดังกล่าว เพื่อให้ผลประมาณการสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดน้ำมันในปัจจุบัน
2. ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ 3.00
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 2.75 เป็นร้อยละ 3.00 ตามคาดการณ์ จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ผนวกกับอุปสงค์ในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แรงกดดันจากเงินเฟ้อสูงขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า ธนาคารกลางในภูมิภาคต่างมีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น (cost push inflation)
นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศเกาหลีใต้ที่ขยายตัวเร่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น (demand pull inflation) โดยในเดือน ก.พ. 53 อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ ขยายตัวสูงสุดในรอบ 27 เดือนที่ร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และอยู่เกินกว่ากรอบเป้าหมายที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้
3. ดุลการค้าจีนเดือน ก.พ. 54 ขาดดุลสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ -7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ดุลการค้าจีนเดือน ก.พ. 54 ขาดดุล -7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าการขาดดุลที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี จากการที่มูลค่าการส่งออกเดือน ก.พ. 54 ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 52 โดยเป็นผลมาจากเทศกาลตรุษจีนที่ทำให้การส่งออกน้อยลงกว่าปรกติ อีกปัจจัยหนึ่งของการขาดดุลคือการนำเข้าที่ยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 19.4 เมือเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
- สศค.วิเคราะห์ว่า ในปี 54 ดุลการค้าของจีนน่าจะมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากการที่ราคาโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่สงบทางการเมืองในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือและโภคภัณฑ์อื่น ๆ เช่น แร่เหล็ก ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าหลักของจีน มีทิศทางปรับสูงขึ้น
โดยในช่วง 2 เดือนแรกปี 54 ขยายตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามการที่เกินดุลการค้าของจีนมีทิศทางที่ลดลงน่าจะช่วยธนาคารกลางจีนในรับมือกับแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อจากปริมาณเงินในระบบที่จะลดลงตามการเกินดุลการค้าที่ลดลง
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง