เนื้อหาวันที่ : 2011-03-09 15:51:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2305 views

เปลี่ยนวิธีอาจมีคำตอบ

บางทีปัญหานี้ที่เราเจออยู่อาจพบคำตอบได้ด้วยการ ขอเปลี่ยนคำถาม เพราะเป้าหมายไม่ใช่แค่แก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านไป หากแต่เป็นการทำทุกอย่างเพื่อให้ก้าวเดินต่อไปในเส้นทางของเราได้

“ขอเปลี่ยนคำถามครับ” เสียงผู้เข้าแข่งขันในรายการทีวี ขอตัวช่วยเมื่อเจอเข้ากับปัญหาที่ตนเองคิดหาคำตอบไม่เจอ แต่ก็ยังมีทางเลือกอื่นอีกที่จะดำเนินการแข่งขันต่อไปได้ด้วยการ “ขอเปลี่ยนคำถาม” ผู้เขียนเกิดปิ๊งแว๊บขึ้นว่า “บางทีปัญหานี้ที่เราเจออยู่อาจพบคำตอบได้ด้วยการ ขอเปลี่ยนคำถาม” เพราะเป้าหมายสำคัญของเราไม่ใช่เพียงแก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านไป แต่ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เดินทางต่อไปในเส้นทางชีวิตของเราให้ได้ ซึ่งบางที “คำถามนี้อาจไม่มีคำตอบสำหรับเป้าหมายของเรา” ก็ได้

ครั้งหนึ่งรายการทีวีสัมภาษณ์ คุณต๊อบ เจ้าของขนมสาหร่ายทอดยี่ห้อเถ้าแก่น้อย เขาบอกว่า “เทคนิคสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้มี ๓ อย่างคือ ๑.ถาม ๒.ถาม ๓.ถาม อยากรู้อะไรผมถาม” นี่เป็นคำยืนยันจากคนที่ประสบความสำเร็จที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ที่ชัดเจนที่สุดว่า “ต้องเปลี่ยนคำถามจนกว่าจะได้คำตอบที่ต้องการ”

เหมือนกับเราคิดจะเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง ซึ่งเราไม่รู้จัก หรือรู้จัก แต่พอเดินเข้าจริงๆ กลับไปไม่ถูก ดังนั้น เราจึงต้องถามทาง ซึ่งบางครั้งกว่าจะไปถึงหรือไปถูกทางก็ถามไปแล้วกว่า ๑๐ คน ดังนั้น คนที่หวังจะประสบความสำเร็จ จึงไม่ควรรู้สึกเบื่อที่จะถาม เพราะยิ่งถามก็ยิ่งรู้ และยิ่งรู้ คำตอบก็ยิ่งชัดเจน แล้วจะไม่เสียเวลาเพราะหลงทาง

นึกถึงพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งออกบวชใหม่ๆ ดั้นด้นเดินทางแสวงหาคำตอบ ด้วยการตั้งคำถามกับผู้รู้ทั้งหลาย เริ่มจากอุทกดาบส และอาฬารกะดาบส จนทั้งสองหมดคำตอบแต่ก็ยังไม่ได้คำตอบที่แท้จริง พระองค์จึงตั้งคำถามและทดลองพิสูจน์หาคำตอบด้วยพระองค์เอง โดยการปฏิบัติตามหลักของโยคีสมัยนั้นด้วยการทรมานร่างกาย มีอาการต่างๆ ถึง ๑๐๘  วิธี แต่ก็ไม่มีคำตอบอะไรให้เห็น เมื่อได้ยินเสียงพิณแว่วมา พระองค์ทรงพิจารณาด้วยปัญญาว่าสิ่งที่ทำน่าจะไม่ใช่คำถามที่จะได้คำตอบที่ถูกต้อง พระองค์จึงทรง “เปลี่ยนคำถาม”

แล้วพระองค์ก็ทรงค้นพบ สูตรแห่งการตั้งคำถามเพื่อค้นพบความจริง คือ อริยสัจ ๔ ดังนี้
๑. อะไร? (ทุกข์) ถามดูให้ชัดเสียก่อนว่า สิ่งนี้คืออะไรกันแน่ หรือที่เรียกว่า “สถานการณ์เฉพาะหน้า” เราต้องถามให้ได้คำตอบว่า “จริงๆ แล้วคืออะไร?” เพราะบางทีที่เราเห็นอาจไม่ใช่อย่างที่เราคิด แน่นอนว่าถ้าเราเห็นและคิดผิดไปจากความจริงที่มันเป็น ย่อมยากที่จะทำให้ได้คำตอบถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น

๒. ทำไม? (สมุทัย) คือการถามหาสาเหตุที่มาของสิ่งที่ปรากฏ ว่ามีที่มาเป็นอย่างไร? อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง? เพราะเราต้องตัดรากถอนโคน ถึงจะจบสิ้นปัญหา ถ้ามามัวแต่รอนกิ่งเล็กกิ่งน้อยอยู่ มันก็จะผุดโผล่ขึ้นมาก่อปัญหาใหม่ได้อีก ดังนั้นแล้ว คำถามนี้จะทำให้เราเข้าใจในต้นตอของมันว่า นี่แหละคือจุดเริ่มต้น เพื่อที่จะสาวไปถึงจุดจบในบทสุดท้ายต่อไป

๓. เพื่ออะไร? (นิโรธ) เป็นคำถามที่สานต่อจากจุดเริ่มต้นไปหาจุดสิ้นสุด เพื่อสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนในการเดินทาง เพราะบ่อยครั้งเหลือเกินเราไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหน เหมือนคนมีเข็มทิศ รู้ทิศทางดีแต่ไม่รู้ว่าจะเดินไปเพื่ออะไรเลยไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี คำถามนี้เพื่อให้เรามีจุดหมายปลายทางที่ถูกต้อง เป็นการปักธงชัยให้ใจได้ยึดเหนี่ยว

๔. อย่างไร? (มรรค) สืบเนื่องมาจากคำถามที่แล้ว ถึงตรงนี้เราก็จะได้ถามว่า แล้วจะไปถึงเส้นชัยนั้นอย่างไรดี?   มีวิธีไหนบ้างที่จะทำสิ่งที่เราต้องการนั้นให้สำเร็จ แน่นอนว่าอาจมีหลายวิธีซึ่งนั่นจะดีกว่าการไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร    

มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า ยามใดที่ดูทีวีความสุขของเขาจะหายไป ไม่น่าเชื่อว่าแหล่งบันเทิงของบ้านจะกลายเป็นสิ่งที่บ่มเพาะความสลดหดหู่และบั่นทอนกำลังใจจนอยากจะปิดไว้ ให้ใจทนกับความเหงายังดีกว่ารับรู้ความโหดร้ายของชีวิตมนุษย์ ลองให้ความเงียบปกคลุม อาจดีกว่านั่งกลุ้มไปกับข่าวทีวี

ในบางทีการได้อยู่เงียบๆ ให้ละอองฝุ่นในใจตกตะกอนนอนนิ่ง ความแจ้งชัดในปัญหาชีวิตอาจปรากฏคำตอบที่ค่อยๆ คลี่คลายไปทีละข้อ หรือไม่ก็เป็นการฟื้นพลังใจออมกำลังไว้เพื่อที่จะฮึดสู้ใหม่กับทุกอุปสรรคปัญหา วิกฤติอาจพลิกเป็นโอกาสได้เสมอ

อยากจะเล่าอีกเรื่องส่งท้าย ซึ่งได้ยินมาจากท่านพระอาจารย์วีระพันธุ์ ชุติปัญโญ พูดไว้ในงานทำบุญวันก่อตั้งคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ของสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ซึ่งในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ทุกคนบันเทิงในธรรมที่เบิกบานใจ ท่านเล่าไว้ว่า ยังมีชายผู้หนึ่งอยากค้นพบความจริงของชีวิตจึงเดินทางหาอาจารย์สอน ได้เจออาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งมีปราสาทสวยงามมาก จึงขอตัวเป็นศิษย์ และได้รับอนุญาตให้เดินดูปราสาทเสียก่อน และถือช้อนที่ใส่น้ำมันงาไว้ด้วย เมื่อดูจนครบทุกชั้นกลับมาหาอาจารย์อีกครั้ง อาจารย์ทักว่า “น้ำมันงาละ?” จึงได้รู้สึกตัวว่าตนเองนั้นมัวแต่ชื่นชมความงามของปราสาทจนลืมนึกถึงน้ำมันงาไป ทำให้ไม่รู้ว่ามันหกไปจนหมดตั้งแต่เมื่อไหร่

ท่านอาจารย์สรุปไว้ให้คิดว่า คนเราเองก็ไม่ต่างอะไรกับชายผู้นี้ มัวแต่เพลิดเพลินในลาภ ยศ สรรเสริญ ดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อจะได้มันมา จนสาระสำคัญของชีวิตตนเองนั้นหล่นหายไป ถามหาความสุขแต่เบียดเบียนและสร้างทุกข์ให้กับคนอื่นและสิ่งแวดล้อม เราได้ความสบายแต่หาความสุขไม่เจอ

ดังนั้นแล้ว ท่ามกลางความอลม่านของสังคมขณะนี้ มีสักคำถามหรือยังที่เราจะหาคำตอบเพื่อความสงบและความสุขอย่างแท้จริงของชีวิต เมื่อมีคำตอบสำหรับตัวเองแล้ว เราจะได้แสวงหาทางออกให้กับสังคมร่วมกัน และเพื่อให้ได้คำตอบที่แท้จริงอาจไม่ใช่แค่เปลี่ยนคำถาม แต่อาจต้องเปลี่ยนวิธีแสวงหาคำตอบด้วย เพราะถ้าถามหาความสามัคคีด้วยวิธีตีกัน มันคงไม่เจอคำตอบที่ต้องการ 

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก Add Free Magazine