เนื้อหาวันที่ : 2011-03-09 13:54:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1497 views

นิด้า แนะกนง.ดูแลเงินเฟ้อหวั่นกระทบเศรษฐกิจปี 54

นักวิชาการนิด้า มองทิศทางเงินบาทเคลื่อนไหวในเกณฑ์รับได้ เชื่อ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่เป็นปัญหา แนะจับตาการเก็งกำไรพร้อมดูแลเงินเฟ้อ

นักวิชาการนิด้า มองทิศทางเงินบาทเคลื่อนไหวในเกณฑ์รับได้ เชื่อ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่เป็นปัญหา แนะจับตาการเก็งกำไรพร้อมดูแลเงินเฟ้อ

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองทิศทางค่าเงินบาท เคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ คาดไม่เป็นปัญหา หาก กนง. จะปรับขึ้นระดับอัตราดอกเบี้ย เพื่อกำกับอัตราเงินเฟ้อ

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA (Executive Program Bangkok)สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ปัญหาที่น่ากังวลเป็นอย่างมากต่อภาวะทางเศรษฐกิจไทยในปี 2554 คือ ภาวะเงินเฟ้อ หรือการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของระดับราคา ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะของต้นทุนในภาคการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

เนื่องจากระดับราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนอำนาจซื้อของประชาชนภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะนโยบายการปรับขึ้นระดับค่าจ้าง และค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งปัจจัยนี้ เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่เป็นแรงผลักดันให้ระดับราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

รศ.ดร.มนตรี ยังแนะต่อว่า ปัจจุบัน ระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศนั้นอยู่ที่ร้อยละ 2.87 และระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.45 ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดที่ร้อยละ 0.5 – 3.0 ต่อปี แต่ก็มีทิศทางการเคลื่อนไหวที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการเคลื่อนไหวเช่นนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ควรมองข้าม

“หนึ่งในแนวทางแก้ไขตามนโยบายการเงินที่ได้มีการกำหนดไว้ ของ กนง. คือ การปรับระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของระดับราคานั้น มีความเหมาะสมที่จะปรับขึ้นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ปัจจัยด้านระดับอัตราดอกเบี้ย ค่อนข้างมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาท

แต่ในปัจจุบัน การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไทย มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทย (THB) ต่อดอลลาร์สหรัฐ (USD) ล่าสุดอยู่ที่ 30.6057 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (7 มี.ค 2554)” ผู้อำนวยการ MPA Executive Program Bangkok นิด้า กล่าว

ดังนั้น หาก กนง. จะปรับขึ้นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 ในการประชุมครั้งนี้ ตามที่ได้เคยส่งสัญญาณไว้ จึงถือได้ว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมแล้ว เพราะผลกระทบต่อเนื่องจากการปรับขึ้นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้ โดยเฉพาะเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่น่ากังวลมากนัก แต่ทั้งนี้ กนง. ยังควรจับตา และเข้าแทรกแซงการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ให้คงเสถียรภาพเช่นนี้ต่อไป เพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มั่นคงของไทย