เนื้อหาวันที่ : 2011-03-09 12:08:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1063 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 9 มี.ค. 2554

1. กนง. ชี้เงินเฟ้อปัจจัยสำคัญขึ้นดอกเบี้ย
-  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในการนำมาพิจารณายังไม่มีปัจจัยใดๆ เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยปัจจัยสำคัญที่จะนำมาปรับดอกเบี้ยยังเป็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยต่างๆ

-  สศค.วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อเป็นการควบคุมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 0.5 – 3.0 โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ก.พ. 54 ขยายตัวร้อยละ 1.45 เป็นผลกระทบมาจากราคาสินค้าหลายชนิดที่ปรับตัวสูงขึ้น

โดยสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าน้ำประปาและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในปี 54 แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น

โดยสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 53 และการปรับเพิ่มเงินเดือนของข้าราชการ พนักงานเอกชน  และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยายตัวร้อยละ 3.5 และ 2.5 ตามลำดับ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.0 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 53)

2. 'อุ๋ย' เสนอใช้ Asian Currency Unit  ป้องกันโจมตีค่าเงิน
-  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจไทย ภายใต้ความเปราะบางเงินทุนเคลื่อนย้าย" ว่า ประเทศในภูมิภาคเอเซียควรร่วมกันหาทางออกปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน ได้แก่

1) ธ.กลางในภูมิภาคเอเซีย อาจต้องปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยน โดยหันมาใช้ Exchange Rate Targeting  2) มีการรวมกลุ่มในการใช้เงินสกุลเดียวกัน และ 3) ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Asian Currency Unit โดยมีการกำหนดค่าเงินอ้างอิงของเงินแต่ละสกุล ซึ่งอาจมีการปรับค่าเงินปีละครั้ง ขึ้นอยู่กับพื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

-  สศค. วิเคราะห์ว่า  นับจากวิกฤติการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2551 ได้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายจากประเทศพัฒนาแล้วมายังประเทศกำลังพัฒนาเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยปริมาณเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ส่งผลกระทบต่อการแข็งตัวของค่าเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศที่เป็นฝ่ายรับ และส่งผลกระทบต่อการส่งออก 

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องมีการวางแผนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายทุน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 1) โดยใช้เครื่องมือการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ บริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นและสะท้อนความเป็นจริง

2) มีการพัฒนาตลาดทุนในเชิงลึกโดยการออกตราสารที่มีความหลากหลายทั้งในแง่ระยะเวลาและผลตอบแทน 3) มีมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนทางตรง 4) พัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพ และ 5) พัฒนาระบบการกำกับดูแลเพื่อความมั่นคงของระบบการเงินและสถาบันการเงิน  ทั้งนี้ สศค.คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 29.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  และการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 13.2 ใน   ปี 54 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 53)

3. เศรษฐกิจของเวียดนามในปี 54 คาดเติบโตได้ร้อยละ 6.5-7.0 ต่อปี
-  รัฐมนตรีช่วยด้านการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม เปิดเผยว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 54 อาจจะขยายตัวได้ร้อยละ 6.5-7.0 ต่อปี  ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลคาดไว้ที่ร้อยละ 7.0-7.5 ต่อปี  นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีเป้าหมายสำคัญที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงสุดของภูมิภาค

-  สศค.วิเคราะห์ว่า เวียดนามได้พยายามแก้ไขปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดโดยการใช้มาตรการการปรับลดค่าเงินดอง  โดยล่าสุดธนาคารกลางเวียดนามได้ปรับลดค่าเงินดองเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 15 เดือน ลงอีกร้อยละ 7.0  แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าได้  (ยอดขาดดุลการค้าในปี 53 เท่ากับ -12.1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ)

อย่างไรก็ตาม มาตรการการปรับลดค่าเงินดองได้ส่งผลสำคัญต่อการเกิดภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น  โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค.54  อยู่ที่รัอยละ 12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 11.8 

ทั้งนี้  แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้นและผลกระทบของการลดค่าเงินดองที่ทำให้ต้นทุนการผลิตจากสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้นจนส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกเวียดนามลดลง  จะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 54  ทั้งนี้ สศค.คาดว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 6.8 ในปี 54 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 53)

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง