ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB จับตาการประชุมครั้งที่สองของปีของ กนง. คาดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียงร้อยละ 0.25
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB จับตาการประชุมครั้งที่สองของปีของ กนง. คาดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียงร้อยละ 0.25
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics คาดว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียงร้อยละ 0.25 เป็น ร้อยละ 2.50 ในการประชุมครั้งที่สองของปี วันที่ 9 มีนาคม 54 โดยมีปัจจัยประกอบดังนี้
1.อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ไม่ได้เร่งตัวขึ้นรุนแรงดังเช่นในช่วงกลางปี 2548 โดยในช่วงนั้นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่เคยสูงกว่าร้อยละ 1 มาก่อนในช่วงหลายเดือนก่อนหน้า กลับมีค่ากว่าร้อยละ 1 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และ เพิ่มมาอยู่ในระดับกว่าร้อยละ 2 ในเดือนสิงหาคม หรือ ใช้ระยะเวลาเพียง 4 เดือน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึงร้อยละ 0.5 สองครั้งติดกัน คือในการประชุมเดือนกันยายนและตุลาคม 2548
สำหรับในครั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับร้อยละ 1.32-1.45 ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อนจนถึงกุมภาพันธ์ปีนี้ ซึ่งสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 1.1 ในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ดังนั้น สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ต้องเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มีขนาดมากไปกว่าการคาดการณ์ของตลาด
หากพิจารณาคาดการณ์เงินเฟ้อจากแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคของ TMB Analytics ที่แสดงตามแผนภาพรูปพัดในปี 2554 จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะไม่เร่งตัวในช่วงครึ่งปีแรก โดยค่อยๆปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนถึงปลายปีเข้าใกล้ร้อยละ 3 ซึ่งเป็นเพดานเงินเฟ้อเป้าหมาย ธปท. ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งตัวในช่วงครึ่งปีแรกเข้าใกล้ร้อยละ 5 ในช่วงกลางปี จากแรงกดดันของราคาน้ำมันในตลาดโลก แล้วจึงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี
2.การตอบสนองจากตลาดตราสารหนี้ผ่านอัตราผลตอบแทนซื้อขายพันธบัตรระยะสั้นไม่เกิน 6 เดือน แสดงถึงการประเมินของตลาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขยับขึ้นในขนาดประมาณ 25 basis points โดยการตอบสนองของตลาดตราสารหนี้ก่อนการประชุม กนง. แต่ละครั้ง นับแต่ธปท. เริ่มใช้นโยบายการเงินตึงตัวตั้งแต่กลางปี 2553 นับได้ว่ามีความใกล้เคียงกับผลการตัดสินใจของที่ประชุม กนง. ไม่ว่าการเป็นการปรับขึ้นหรือคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม
3.ในระยะสั้น การอุดหนุนของกองทุนน้ำมันในประเทศ จะช่วยชะลอแรงกดดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นจากปัญหาความไม่สงบในประเทศผู้ส่งออกหลักน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี ความสามารถของกองทุนน้ำมันในการรองรับการทยานขึ้นของราคาน้ำมันตลาดโลกอาจทำได้แค่เพียงประมาณ 2 เดือน เนื่องจากสถานะเงินกองทุนน้ำมันสุทธิ ณ สิ้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 21,684 ล้านบาท
โดยรัฐต้องมีภาระชดเชยราคาน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอลล์รวมกันไม่ต่ำกว่า 8,375 ล้านบาทต่อเดือน ที่ระดับราคาน้ำมันตลาดโอมานเฉลี่ย 97.4 ดอลลาร์สรอ.ต่อบาร์เรล ซึ่งในขณะนี้ราคาน้ำมันได้ปรับเป็น 104 ดอลลาร์สรอ. แล้ว และคาดว่าทุกๆการปรับขึ้นของราคาน้ำมันตลาดโลก 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลให้ภาระการชดเชยเพิ่มขึ้นประมาณ 900 ล้านบาท หากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับปัจจุบัน เงินในกองทุนน้ำมันก็จะหมดลงภายใน 2 เดือนจากนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงระดับเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี