เนื้อหาวันที่ : 2011-03-08 10:02:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1572 views

ทรัพย์สินทางปัญญากับการเติบโตของคลาวด์คอมพิวติ้ง

ไมโครซอฟท์ ชี้ปี 2009-2010 86% ของนักธุรกิจตื่นเต้นกับเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง ขณะที่ 90% ยังกังวลเรื่องความปลอดภัย เชื่อในอนาคตรัฐบาลต้องมีกฎหมายรองรับ

ไมโครซอฟท์ ชี้ปี 2009-2010 86% ของนักธุรกิจตื่นเต้นกับเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง ขณะที่ 90% ยังกังวลเรื่องความปลอดภัย เชื่อในอนาคตรัฐบาลต้องมีกฎหมายรองรับ

ปัจจุบันองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ต่างก็ขานรับต่อการเข้ามาของคลาวด์คอมพิ้วติ้งกันมากขึ้น การออกกฎข้อบังคับต่างๆ ในการใช้งานบริการคลาวด์จึงได้รับการพิจารณาและอยู่ในความสนใจมากขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจและภาครัฐต่างก็ตื่นตัวในการนำคลาวด์คอมพิวติ้งมาใช้งานเพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกันไปอีกด้วย อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพของการบริการ การประเมินผลและการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล อย่างไรก็ตาม บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง หรือ Software as a Service ก็มาพร้อมกับความซับซ้อนบางอย่างที่ยังต้องคำนึงถึง

การศึกษาวิจัยของไมโครซอฟท์ ระหว่างปี 2009 – 2010 เกี่ยวกับทัศนคติของผู้คนต่อคลาวด์คอมพิวติ้งในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ร้อยละ 86 ของนักธุรกิจชั้นนำตื่นเต้นกับเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง ในขณะที่ ร้อยละ 90 ยังคงรู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย การเข้าถึงข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อว่ารัฐบาลจำเป็นที่จะต้องวางมาตรการทางกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับคลาวด์คอมพิวติ้งที่เหมาะสมยิ่งขึ้นสำหรับการใช้งานคลาวด์คอมพิ้วติ้งต่อไปในอนาคต

พัฒนาการทางด้านคอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดดในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ กลายมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และกลายเป็นเครื่องพีซีที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ในยุคปัจจุบัน การเข้ามาของคลาวด์คอมพิวติ้งในตอนนี้จึงนับเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้ดียิ่งขึ้น

จูล แอล ซิกัล ที่ปรึกษาทั่วไปทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ฝ่ายกฎหมายและกิจการองค์กร ไมโครซอฟท์ ที่รับผิดชอบด้านทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า “สิ่งแรกที่เราควรจะทำ คือ ทำความเข้าใจว่า คลาวด์ คอมพิวติ้งคืออะไร ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสิ่งที่ผู้ใช้งานพูดถึงคลาวด์คอมพิวติ้งกับเทคโนโลยียุคเก่า คือ การทำงานของคอมพิวเตอร์ การประมวลผล และการทำงานบนคลาวด์คอมพิวติ้ง หากพิจารณาถึงการเปลี่ยนผ่านของคอมพิวเตอร์ที่ผ่านมา การก้าวไปสู่ยุคคลาวด์คอมพิวติ้งนับเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่จากโมเดลการทำงานรูปแบบเดิม อย่างไรก็ตาม ความท้าทายดังกล่าวอาจจะสามารถแก้ไขได้ผ่านทางกฎหมายที่มีอยู่”


แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากกฎเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้กับโลกของคอมพิวเตอร์ที่ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา?
“ทรัพย์สินทางปัญญาถูกกำหนดขึ้นสำหรับการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ในตลาด กฎส่วนใหญ่จึงถูกกำหนดขึ้นตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว คำถามคือว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อซอฟต์แวร์ ซึ่งถูกคุ้มครองด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในแผ่นดิสก์ หรือ ไฟล์สำหรับการดาวน์โหลดลงบนคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่ง แต่ถูกโฮสต์(Host) ไว้บนคลาวด์ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่”

ข้อกำหนดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของการบัญญัติกฎหมายใหม่ ซึ่งองค์กรธุรกิจและรัฐบาลจะต้องร่วมมือกันเพื่อหาทางออกให้แก่ปัญหาดังกล่าว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง อาทิ การปกป้องข้อมูล สิทธิและการใช้งาน ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย รวมถึงการดำเนินการตามกฎหมาย ลำดับของกฎหมายในบริบทของการใช้งานคลาวด์คอมพิวติ้งครอบคลุมในหลายแง่มุม

นายสุชาติ อิ่มบัญชร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บีทามส์ โซลูชั่น จำกัด หนึ่งในพาร์ทเนอร์หรือคู่ค้าทางด้านคลาวด์ คอมพิวติ้ง ของไมโครซอฟท์ในประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า “สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า ได้รับการกำหนดขึ้นเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของต่อนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการบรรจุนวัตกรรมเหล่านั้นไว้ในอุปกรณ์ หรือ เครื่องมือที่ผู้คนสามารถมองเห็น และสัมผัสได้

แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสิทธิบัตรถูกนำมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของโปรแกรมบนคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้ เรื่องดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเตรียมรับการเข้ามาของคลาวด์คอมพิวติ้งในประเทศไทย”

จุดแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งของการทำงานในรูปแบบบริการคลาวด์คอมพิวติ้งคือ การละเมิดลิขสิทธิ์สามารถกระทำได้เบื้องหลังไฟร์วอลโดยที่เราไม่สามารถมองเห็นได้

“เนื่องด้วยผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ได้บนคลาวด์คอมพิวติ้งและควบคุมแนวทางการใช้งานสำหรับผู้ใช้งานและการตอบโต้กับซอฟต์แวร์ดังกล่าวผ่านทางอินเทอร์เฟซ ซึ่งหมายความว่าเครื่องหมายการค้าอาจมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นสำหรับการให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งในอนาคต เพราะสิ่งที่ผู้ใช้งานจะรับรู้และประทับใจต่อซอฟต์แวร์นั้นขึ้นอยู่กับการตอบโต้ต่ออินเทอร์เฟซของซอฟต์แวร์” จูล แอล ซิกัล กล่าวเสริม

“จะทำอย่างไรหากเกิดการลอกเลียนแบบส่วนหนึ่งของอินเทอร์เฟซจากบริการคลาวด์คอมพิวติ้งที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะนำไปสู่คำถามที่ว่ากฎหมายเครื่องหมายการค้าจะจัดการกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ได้อย่างไร”

“เราอาจจะยังไม่มีคำตอบให้กับเรื่องดังกล่าวในตอนนี้ ถ้าเราต้องการจะเปิดตัวบริการคลาวด์คอมพิวติ้งสู่ตลาดและตั้งมาตรฐานให้กับเทคโนโลยีบนคลาวด์คอมพิวติ้ง เราอาจจะต้องมองหาทฤษฎีทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไปเพื่อช่วยปกป้องการลงทุนของบริษัท”

บริษัทซอฟต์แวร์ขนาดเล็กอาจถูกมองว่าไม่มีบทบาทมากนักสำหรับบริการคลาวด์คอมพิวติ้ง แต่ซิกัลเชื่อว่าบริษัทเหล่านี้จะได้รับประโยชน์มหาศาลจากบริการดังกล่าว เนื่องด้วยการทำงานที่มีประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ในงบประมาณที่ต่ำกว่า ผนวกกับประโยชน์จากการชำระค่าบริการตามที่ใช้งานจริง “มันง่ายขึ้นกว่าเดิมมากในการให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง เนื่องด้วยมีตัวแปรจำนวนมากที่ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงคลาวด์คอมพิวติ้งได้ง่ายขึ้น และช่วยประหยัดงบประมาณลงได้เป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์รายใหม่”

อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินทางปัญญา และการคุ้มครองทางกฎหมายควรได้รับการวางแผนอย่างรอบคอบยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเหล่านี้ปกป้องผลประโยชน์ของตนเองจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กยังคงไม่กล้าเสี่ยงที่จะลงทุนกับบริการคลาวด์คอมพิวติ้งอย่างเต็มตัว แต่บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งได้เริ่มสร้างระบบนิเวศน์ทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองผ่านทางการแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่

“เราได้เห็นการแทรกซึมของบริการคลาวด์คอมพิวติ้งในบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างๆ รวมทั้ง app stores ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาในหลายแพล็ตฟอร์ม วินโดวส์โฟนมี app store ส่วน Apple ก็มี app store สำหรับ iPhone กูเกิลก็มี app store สำหรับแอนดรอยด์ บริษัทจำนวนมากต่างกำลังเสริมสร้างระบบนิเวศน์ทางทรัพย์สินทางปัญญาผ่านทาง app stores ของตน ซึ่งนักพัฒนาจะได้รับเครื่องมือในการสร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์”

ซิกัล ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ระบบทรัพย์สินทางปัญญาแบบเสมือนจริงยังคงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อพิจารณาว่าใครคือผู้ที่มีสิทธิในการเผยแพร่แอพพลิเคชั่น และใครที่จะต้องแก้ไขแอพพลิเคชั่นของตนเองเพื่อเคารพต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยที่เราสามารถใช้กฎหมายเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือ โอเพ่นซอร์สที่เกี่ยวข้องกับแอพพลิเคชั่นมาใช้ได้ เพราะทุกๆ อย่างล้วนมีความสำคัญต่อการสร้างระบบนิเวศน์ทางทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมาทั้งสิ้น”

บริบทเหล่านี้มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น นักพัฒนาจึงควรได้รับการคุ้มครองและต้องการระบบนิเวศน์ทรัพย์สินทางปัญญาที่จะส่งผลดีต่อพวกเขาอย่างแท้จริง

คำถามคือ แล้วกฎหมายในปัจจุบันเหมาะสมในการรองรับบริการดังกล่าวมากน้อยเพียงใด 
“กฎหมายที่มีอยู่ถูกร่างขึ้นมาเพื่อสามารถนำมาปรับใช้ได้ในเกือบทุกกรณี ขึ้นอยู่ว่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกยกมาบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้มากน้อยเพียงใด” จูล แอล ซิกัลกล่าวทิ้งท้าย