สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 7-11 มี.ค. 54
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในสัปดาห์ (28 ก.พ.- 4 มี.ค.) ที่ผ่านมาเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (21-25 ก.พ.) ทุกชนิดประมาณ 3-6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (สัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้น 6.50-12.00) จากประเทศผู้ผลิตน้ำมันในแอฟริกาเหนือ และในตะวันออกกลางเกิดความไม่สงบทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการประท้วงในลิเบียที่ยืดเยื้อจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันลดลงประมาณ 75% หรือ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 4 แสนบาร์เรล/วัน (จากกำลังการผลิต 1.6 MMBD) เห็นได้จากผู้ค้าเกิดความวิตกต่อภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวดังกล่าว จึงเข้าไปลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเป็นปริมาณที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ประกอบกับ ปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ก.พ. 54 ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน ทุกชนิด อาทิ น้ำมันดิบลดลง 4 แสนบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 346.4 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้อัตราเดินเครื่องเฉลี่ยของโรงกลั่นสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 1.5% อยู่ที่ประมาณ 81%
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันชะลอความร้อนแรงลงหลังจากมีข่าว ผู้นำลิเบีย (พันเอก Muammar Gaddafi) ยอมรับข้อเสนอแผนไกล่เกลี่ยเพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมือง จากประธานาธิบดีเวเนซูเอลา (นาย Hugo Chavez), และองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ประกาศพร้อมจะระบายน้ำมันดิบสำรองปริมาณ 1,600 ล้านบาร์เรล ของสมาชิก 28 ประเทศ ประกอบกับรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาย้ำว่าสามารถจะระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve) ของประเทศได้เช่นกัน
สำหรับภาคเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ส่งสัญญาณดีขึ้นจากยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.พ. 54 ลดลง 20,000 ราย (W-O-W) มาอยู่ที่ 368,000 ราย ต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง และ ดัชนีภาคบริการเดือน ก.พ. 54 พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยเพิ่มขึ้น 0.3 จุด (M-O-M) อยู่ที่ 59.7 จุด
อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของผู้บริโภค (Consumer Spending) ในเดือน ม.ค. 54 เพิ่มขึ้น 0.2% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน (เดือน ธ.ค. 53 เพิ่มขึ้น 0.5%) ทั้งนี้ รายงานจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ล่าสุดแสดงเศรษฐกิจยังขยายตัว ทั้งในอัตราช้าจนถึงปานกลาง
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์นี้ คาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับสูงแต่จะไม่ปรับตัวขึ้นลงรุนแรงเหมือนที่ผ่านมาเนื่องจาก ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ต่างมีมาตรการรักษาสมดุลตลาดน้ำมันไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ค่าการกลั่นลดลงจนโรงกลั่นในยุโรปหลายแห่งต้องลดอัตราการกลั่น ซึ่งคาดว่าในเดือน มี.ค. 54 อุปสงค์น้ำมันดิบจะลดลงประมาณ 760 KBD (ปิดซ่อมบำรุงตามแผน 510 KBD และลดกำลังการกลั่นลงอีก 250 KBD) คิดเป็น 6% ของกำลังการกลั่นในยุโรป จะบรรเทาความร้อนแรงของตลาดน้ำมัน
อย่างไรก็ตามควรติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด และ ให้จับตามองเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อไปเพื่อรักษาเสถียรภาพของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ (ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนตัวลง)