เนื้อหาวันที่ : 2007-03-14 14:35:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1290 views

ระยองเพียว ยืดลงทุนโรงกลั่น หลังรัฐเข้มมลพิษนิคมฯมาบตาพุด

โรงงานอุตสาหกรรมพ่นพิษนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ชาวบ้านเดือด โวยกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง จี้รัฐคุมเข้มสิ่งแวดล้อม พร้อมหาทางออก เอกชนเลื่อนผุดโรงงานไม่มีกำหนด ชี้บางรายเตรียมย้ายฐานไปแหล่งอื่นแทน พบผู้ป่วยมะเร็งพุ่ง ระยองติดอันดับระยะเวลาเพียง 8 ปี

นายศุภพงศ์  กฤษณกาญจน์  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท  ระยองเพียวริฟายเออร์ จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า  จากการที่ภาครัฐได้มาดูแล  และเข้มงวดในการดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง  หรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อการขยายโรงกลั่นน้ำมัน  ทำให้บริษัทต้องชะลอออกไป  จนกว่าผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะสรุปได้ตามแผนเดิมเราจะลงทุนในช่วงต้นปี 2550 นี้แต่เนื่องจากปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น  ทำให้ต้องเลื่อนออกไปเป็นกลางปีนี้แทน  หรือเลื่อนจากแผนออกไปอีก 6 เดือน  ทั้งนี้  ตามแผนเดิมบริษัทจะขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 34,000  บาร์เรล/วัน  จากเดิม 17,000  บาร์เรล/วัน  ใช้เงินลงทุน 2,000 3,000 ล้านบาท นายศุภพงศ์  กล่าว

.

นายศุภพงศ์  กล่าวอีกว่า  หากผลการศึกษาแล้วว่า  ไม่สามารถที่จะลงทุนที่มาบตาพุดได้  บริษัทคงต้องหาพื้นที่อื่นลงทุนแทน  เช่น ชลบุรี  แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการศึกษา ซึ่งเบื้องต้นแผนการขยายโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มครั้งนี้  คงไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม  แต่เนื่องจากรัฐเข้าเข้มงวด  และให้เอกชนศึกษาและลงทุนหาทางป้องกันเอง  บริษัทคงต้องปฏิบัติตาม นอกจากการลงทุนโรงกลั่นแล้ว  บริษัทยังมีแผนจะขยายปั้มน้ำมันสาขาเพิ่มเป็น  100 แห่ง  จากปัจจุบันมีประมาณ  64  แห่ง  โดยใน  36  แห่งนั้น  10  แห่ง จะเป็นที่กรุงเทพฯ  ส่วนที่เหลือจะเป็นที่ต่างจังหวัด  ซึ่งจะเป็นการลงทุนในลักษณะเข้าไปร่วมมือกับปั้มเดิม  หรือเข้าไปเทคโอเวอร์ปั้มน้ำมันที่มีปัญหาด้านการเงิน  โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น  200 ล้านบาท

.

อย่างไรก็ตาม  แผนงานปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโต 10%  จากปี 2549 ที่มียอดขาย  20,000 ล้านบาท โดยไม่รวมกับรายได้จากการลงทุนในธุรกิจค้าปลีก  ที่บริษัทได้ร่วมทุนกับ  สัมมากร  จำกัด (มหาชน)  ก่อตั้งบริษัท  เพียวสัมมากร  ดีเวลลอปเม้นท์  จำกัด  ด้วยทุนจดทะเบียน  50  ล้านบาท โดย ระยองเพียว  เป็นผู้ถือหุ้น  51% และสัมมากร  ถือหุ้น 49% จะทำการพัฒนาศูนย์การค้าประชาคมแห่งแรกภายใต้ชื่อ เพียว เพลส  บริเวณหน้าหมู่บ้านสัมมากร  รังสิตคลอง 2 ติดถนนรังสิต-องครักษ์  กม.4  และมีการกำหนดเปิดให้บริการตลอด  24  ชั่วโมง  ในเดือนเมษายน  2550  ใช้เงินลงทุน  120  ล้านบาท

.

นายศุภพงศ์  กล่าวอีกว่า  การร่วมทุนกับครั้งนี้เพื่อพัฒนาที่ดินในเขตกรุงเทพฯ  และปริมณฑลให้กลายเป็นศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) แบบครบวงจร  ตามแผนภายใน  5  ปีนี้จะเปิดเพิ่มให้ได้  5 แห่ง เบื้องต้นได้คัดเลือกแล้ว  2  แห่ง คือ  บริเวณหมู่บ้านสัมมากร  ถนนรามคำแหง  และที่  ถนนราชพฤกษ์ ศูนย์การค้าชุมชนที่ลงทุนจะเป็นที่รวบรวมสินค้า  และบริการที่หลากหลาย  พร้อมสถานีบริการน้ำมัน เพียว รูปลักษณ์ทันสมัยเข้าไว้ด้วยกัน  เพื่อให้เป็นศูนย์การค้าที่ครบวงจรที่สุด  โดยมีจุดเด่นที่สำคัญคือ นำศูนย์สรรพสินค้า  ร้านค้า  ร้านอาหาร  สาขาธนาคาร  ร้านบริการสะดวกใช้ที่มีชื่อเสียงไปรวมถึงสถานีบริการน้ำมันที่ทันสมัย  สะอาด  ปลอดภัย  มาเปิดให้บริการแก่ลูกค้าผู้บริโภคทั่วไป

.

บริษัท ระยองเพียว ริฟายเออร์  ยังได้แจ้งผลการดำเนินงานงวดปี  2549  แต่ในไตรมาสที่ 3 ปีก่อน  บริษัทขาดทุนสุทธิ  41  ล้านบาท  ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ที่มีกำไรสุทธิ  125  ล้านบาท  หรือลดลง  125%  เนื่องจากผู้ขายวัตถุดิบได้ส่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพผิดไปจากที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายวัตถุดิบ  และมีคุณสมบัติผิดไปจากที่เคยส่งมอบให้บริษัท  ตลอดระยะเวลาของสัญญาที่ผ่านมาอย่างกะทันหัน  มีผลทำให้บริษัท  มีต้นทุนเพิ่มในการปรับคุณภาพสินค้า  ตลอดจนค้าเสียหายอื่นๆ  และความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง  ตลอดช่วงไตรมาสที่ 3 ปี  2549  ส่งผลให้ขาดทุนของสต็อกน้ำมัน  เป็นมูลค่า  105  ล้านบาท

.

นางมณฑา ประณุทนราพาล รองผู้ว่าการฝ่ายทาเรือ การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พร้อมด้วยนายพีระวัฒน์ รุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และคณะ ได้เดินทางเข้าพบ นายพลวัต ชยานุวัชร ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ที่ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง เพื่อหารือการตั้งกองทุนดูแลสุขภาพให้กับชาวบ้านที่อยู่ใกล้บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและชาวจังหวัดระยอง

.

นางมณฑา กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้อนุมัติเงินจำนวน 10 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งกองทุนดูแลสุขภาพประชาชนชาวมาบตาพุด โดยจะเน้น 25 ชุมชน ที่อาศัยอยู่บริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นอันดับแรก โดยจะใช้ระบบไตรภาคีระหว่าง กนอ. จังหวัดระยอง และตัวแทนกลุ่มชาวบ้านใน 25 ชุมชน

.

จากการรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหามลพิเศษ และผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับนิคมอุตสาหกรรม พบว่าจากปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง ซึ่งจะเห็นว่าอัตราผู้ป่วยด้วยโรคภาวะแปรปวน ทางจิตในจังหวัดระยองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนการศึกษาระบาดวิทยาโรคมะเร็งของประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า อัตราผู้ป่วยนอกโรคเนื้องอกและมะเร็ง ของจังหวัดระยองในช่วง ปี 2540 -2548 มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 444.3 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2540 เป็น 1,263.5 คนต่อประชากรแส นในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว ภายในระยะเวลาเพียง 8 ปี