เนื้อหาวันที่ : 2011-03-04 17:17:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 894 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 4 มี.ค. 2554

1. ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวระหว่างร้อยละ 3-5
-  รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 54 มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขณะที่ปัญหาหนี้สินของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่ภาพรวมเศรษฐกิจของกลุ่มจี 3 ดีขึ้น

ขณะเดียวกันประเทศที่พึ่งการส่งออกสูงอย่างจีน ยังน่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และส่งผลดีต่อการขยายตัวของภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้ ธปท. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวระหว่างร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่มีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวในระดับค่อนไปทางด้านกรอบบนคือร้อยละ 5 มากกว่า

-  สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า แต่ด้วยอัตราที่ชะลอลง จากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า โดยมีภาคการบริโภคในประเทศซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 51.4  ของ GDP เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจ

โดย สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ4.4–5.4 คาดเมื่อ ธ.ค. 53) ประกอบกับเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0-5.0 คาดเมื่อ ธ.ค. 53)   

2.  ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Services PMI) ของยุโรปสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 50
-  ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Services PMI) ของยุโรปเดือน ก.พ. 54 อยู่ระดับ 56.8 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 50 สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมเดือน ก.พ. 54 (Composite PMI) ที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 58.2 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 57.0 โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวที่ดีขึ้นในภาคการผลิตของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากหนี้สาธารณะยุโรป เช่น สเปนและไอร์แลน เป็นสำคัญ

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ทิศทางเศรษฐยุโรปที่เริ่มมีการฟื้นตัวและราคาน้ำมันและราคาโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัญหาความไม่สงบในแถบตะวันออกกลาง ทำอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระยะต่อไป โดยอัตราเงินเฟ้อรวมของยุโรปเดือน ก.พ. 54 ขยายร้อยละ 2.4 ต่อปี สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 51

ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจยุโรปยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปที่ยังคงดำเนินอยู่ และความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมซึ่งยังมีความเปราะบางอยู่ได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าทั้งปี 54 เศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี

3. ยอดค้าปลีกของเยอรมันในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวต่อเนื่อง ที่ร้อยละ 2.6
-  ยอดค้าปลีกของเยอรมันในเดือน ม.ค. 2554 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลง  โดยยอดค้าปลีกที่แท้จริง (ณ ราคาคงที่) ในเดือน ม.ค. 2554 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 2.6 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่ายอดค้าปลีกที่แท้จริง (ณ ราคาคงที่)  ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.4 สอดคล้องกับอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 2554 ที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษที่ร้อยละ 7.3 ของกำลังแรงงานรวม

- สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศเยอรมันซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มสหภาพยุโรปมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี และเป็นเศรษฐกิจหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของยุโรปในปัจจุบัน ทั้งนี้ ล่าสุดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมันในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 4.0 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.4  (%qoq_sa)

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของเศรษฐกิจเยอรมันในระยะต่อไปได้แก่อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะในกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส ซึ่งอาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อค่าเงินยูโร และการส่งออกของเยอรมันไปยังประเทศดังกล่าว

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง