เนื้อหาวันที่ : 2011-03-02 09:22:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 821 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 1 มี.ค. 2554

1. ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยเดือนม.ค.โตต่อเนื่อง
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ดีหลังจากชะลอลงในเดือนก่อน สอดคล้องกับภาคการผลิต ที่ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะดัชนีผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.7 จากที่หดตัวร้อยละ -3.4 ในเดือนก่อน

- สศค.วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค.54 ที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนธ.ค. 53 บ่งชี้ถึงทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศและภาคการผลิตที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ที่ได้รับปัจจัยบวกรายได้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี ตามรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวในระดับสูง (โดยในเดือน ม.ค. 54 รายได้เกษตรกรขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 25.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปีก่อน) และการภาคการส่งออก ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก  ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 54 และเศรษฐกิจไทยในปี 54 มีแนวโน้มสดใส ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 4.5 ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0-5.0 (ประมาณ ณ เดือนธ.ค. 53)

2. จลาจลตะวันออกกลางยืดยื้อ หวั่นสะเทือนเศรษฐกิจไทย
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศแถบตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากหนัก เพราะปัจจุบันไทยมีการส่งออกไปยังประเทศแถบตะวันออกกลางเพียงร้อยละ 5 ของการส่งออกทั้งหมด อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปประเทศขนาดใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

- สศค.วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศลิเบียนั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากประเทศลิเบียเป็นประเทศผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก (โดยสามารถผลิตน้ำมัน 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.5 ของกำลังการผลิตจากกลุ่ม OPEC)  ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าในหมวดพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น และจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อย 3.0-4.5 (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 53) อย่างไรก็ดี ความรุนแรงของลิเบียคาดว่าจะเป็นปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น

3. ยุโรปงัดมาตรการแก้น้ำมันแพง
- ยุโรปหาทางรับมือวิกฤตน้ำมัน ท่ามกลางวิกฤตการเมืองของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะยานขึ้น 20 ดอลลาร์สหรัฐภายในเวลา 1 สัปดาห์ จากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในลิเบีย ทำให้การการส่งออกน้ำมันจากลิเบียชะงักลง

โดยยุโรปเห็นว่าการพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลาง และกลุ่มโอเปคเพียงอย่างเดียวเป็นความเสียง เมื่อการประท้วงลุกลามไปในหลายประเทศในแถบดังกล่าว ทั้งนี้แนวทางการรับมือของยุโรป ได้แก่ สเปนกำหนดความเร็วรถไม่เกิน 110 กม./ชม. ลดราคาตั๋วรถไฟ ส่งเสริมพลังงานชีวภาพ หรือ อิตาลีนำเข้า NGV จากนอร์เวย์ แอลจีเรีย และรัสเซียมากขึ้น เป็นต้น

- สศค.วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในลิเบียจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมัน เนื่องจากลิเบียเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสำคัญ (โอเปค)  และผลิตน้ำมันถึงวันละ 1.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ของแอฟริกา

ดังนั้นหากเหตุประท้วงลุกลามไปต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตอันดับหนึ่งคือ ซาอุฯ ที่ผลิตกว่า 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะกระทบต่อราคาน้ำมันโลกให้พุ่งขึ้นไปอีกส่งผลให้ สศค. อาจต้องปรับประมาณการจากเดิมที่คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 54 จะอยู่ที่ 83.0 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลให้สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต้นทุนการผลิตและภาวะเงินเฟ้อของไทย เนื่องจากน้ำมันเป็นต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่สำคัญ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง