เนื้อหาวันที่ : 2011-03-01 09:58:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2092 views

SCB EIC ชี้ธุรกิจปี 54 สภาพคล่องหด การแข่งขันเดือด

SCB EIC คาดปีนี้สถาบันการเงินแข่งขันรุนแรง แนวโน้มสภาพคล่องหดตัว ชี้อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเกินดุลลดลง เป็นปัจจัยสำคัญ

SCB EIC คาดปีนี้สถาบันการเงินแข่งขันรุนแรง แนวโน้มสภาพคล่องหดตัว ชี้อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเกินดุลลดลง เป็นปัจจัยสำคัญ

SCB EIC จัดสัมมนา EIC Knowledge Forum เจาะลึกแนวโน้มสภาพคล่องของไทยและผลกระทบต่อธุรกิจในปี 2011 ระบุสภาพคล่องหดตัว สถาบันการเงินแข่งขันสูง

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่าธนาคารได้จัดงานสัมมนา EIC Knowledge Forum เวทีเสวนาความรู้ และวิเคราะห์เรื่องราวที่น่าสนใจแบบเจาะลึก เน้นผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างเห็นภาพ และนำไปใช้ได้จริง เนื่องจากการมองภาพเศรษฐกิจมหภาคแต่เพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอต่อการวางแผนยุทธศาสตร์ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ภายใต้ภาวะการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

โดยครั้งนี้ EIC ได้เลือกหัวข้อ แนวโน้มสภาพคล่องของไทยปี 2011: ผลต่อธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและส่งผลกับหลายภาคส่วน เนื่องจากข้อมูลสภาพคล่องเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเฝ้าติดตามมอง ทั้งยังเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารการเงิน จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเลือกลงทุน หรือกำหนดต้นทุนในการระดมเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยได้รับเกียรติจาก คุณนิธิดาว รัตนไพฑูรย์ ผู้ชำนาญการอาวุโส ฝ่ายบริหารข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย และ คุณสุรพล ศรีเฮือง ผู้อำนวยการส่วนบัญชีการเงิน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาร่วมเสวนากับผู้บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งทุกท่านล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลสภาพคล่อง และมีประสบการณ์ในเรื่องนี้เป็นอย่างดี”

นางเมธินี จงสฤษดิ์หวัง Head of Research, Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงแนวโน้มของสภาพคล่องปี 2011 ว่า “สภาพคล่องของไทยในปี 2011 จะอยู่ในช่วงหดตัว โดยคาดว่าจะเติบโตเพียงประมาณ 7% เทียบกับ 12% ในปี 2009 และ 9% ในปี 2010 เป็นผลหลักๆ จากการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอลง

โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 5 -6% ในปี 2011 ลดลงจากราว 11.5% ในปี 2010 ประกอบกับการลดลงของการเกินดุลบัญชีเงินเดินสะพัดของไทย ที่คาดว่าจะเกินดุลราว 11.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากราว 14.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2010 ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยแนวโน้มสภาพคล่องดังกล่าว

ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จึงเป็นไปได้อย่างมากว่าจะเกิดการแข่งขันที่รุนแรงเพื่อดูดซับสภาพคล่องที่เหลืออยู่ ดังจะเห็นได้จากการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากดอกเบี้ยสูงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสลากออมสิน ตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือกองทุนตราสารหนี้ต่างๆ”

นายกัมพล จันทวิบูลย์ ผู้จัดการบริหารผลิตภัณฑ์บริหารการเงิน สาย Financial Market ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเสริมจากมุมมองของผู้ใช้ข้อมูลสภาพคล่องในการบริหารจัดการว่า “การรู้ว่าสภาพคล่องของไทยจะเป็นอย่างไร เงินจะมาจากไหนและไปที่ไหนเป็นหัวใจสำคัญในงานบริหารผลิตภัณฑ์บริหารการเงิน จะช่วยให้เราสามารถออกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ได้รับผลตอบแทนสูงหรือมีต้นทุนในการระดมเงินต่ำ

ตัวอย่างเช่น เพราะสภาพคล่องในปีนี้มีไม่มากเท่าปีก่อน ประกอบกับแนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ย หากผู้ประกอบการต้องการระดมทุน อาจพิจารณาเลือกการออกตราสารหนี้แทนที่การกู้เงินจากธนาคาร เพื่อช่วยลดต้นทุนจากการระดมทุน

โดยอาจต้องดำเนินการเสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่สภาพคล่องจะถูกดูดซับไปที่ ตราสารทางการเงินอื่นๆ ก่อน สำหรับท่านที่ต้องการลงทุน หากเลือกลงทุนตอนนี้ ควรเลือกลงทุนในตราสารระยะสั้นมากกว่าระยะยาว เพราะในระยะเวลาอันใกล้นี้ตราสารที่กำลังจะออกมาให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เนื่องจากการแข่งขันเพื่อดูดซับสภาพคล่องมีสูง”