สศค. เผยเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ขยายตัวได้ในระดับสูง การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมปรับตัวดีขึ้น
“เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ขยายตัวได้ในระดับสูง สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น”
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคที่ขยายตัวร้อยละ 28.6
ทั้งนี้ การบริโภคสินค้าคงทนกลับมาขยายตัวในระดับสูง สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวร้อยละ 49.6 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 28.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรและการจ้างงานที่ขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ การส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.3 โดยเฉพาะในหมวดสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ และสินค้าเกษตร ที่ขยายตัวได้ดี”
นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบที่ขยายตัวที่ร้อยละ 28.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกันกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกันโดยขยายตัวร้อยละ 11.6”
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวสรุปว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2554 บ่งชี้ถึงทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศและการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าขยายตัวได้ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ร้อยละ 23.8 ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2554 สามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปี 2553 โดยจะได้รับแรงส่งทั้งจากอุปสงค์ในประเทศและจากการส่งออก”
รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2554
เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ขยายตัวได้ในระดับสูง สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น
1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้น สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคที่ขยายตัวร้อยละ 28.6 ทั้งนี้ การบริโภคสินค้าคงทนกลับมาขยายตัวในระดับสูง
สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.6 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 28.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรและการจ้างงานที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวเข้าสู่ฐานปกติจากภาวะฐานสูงในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 72.6 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 71.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น ราคาผลผลิตทางการเกษตรทรงตัวอยู่ในระดับสูงและการจ้างงานปรับตัวดีต่อเนื่อง
2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.2 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 29.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีของก่อน
ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมกราคม 2554 ยังคงขยายตัวในระดับสูงโดยอยู่ที่ร้อยละ 70.9 แม้จะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 91.0 สะท้อนถึงธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนมกราคม 2554 พบว่า บทบาทนโยบายการคลังยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ผ่านการใช้จ่ายงบประมาณ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนมกราคม 2554 มีจำนวน 235.2 พันล้านบาท ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 56.8 มาจากรายจ่ายประจำจำนวน 146.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.0 และรายจ่ายลงทุนจำนวน 74.4 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงโดยอยู่ที่ร้อยละ 1,211.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในเดือนมกราคม 2554 มีการเร่งเบิกจ่ายงบอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในเดือนมกราคม 2554 จำนวน 3.7 พันล้านบาท ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (เริ่มเดือนกันยายน 2552 – เดือนมกราคม 2554 ) จำนวน 260.8 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74.5 ของกรอบวงเงินลงทุน 350 พันล้านบาท
สำหรับรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) ในเดือนมกราคม 2554 มีจำนวน 125.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9 เป็นผลมาจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตน้ำมันและรถยนต์ ที่จัดเก็บได้ในระดับสูง ทั้งนี้ รายจ่ายงบประมาณที่สูงกว่ารายได้รัฐบาลทำให้ดุลการคลังขาดดุล -108.0 พันล้านบาท สะท้อนนโยบายการคลังที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
4. การส่งออกในเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ 16.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 22.3 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 14.7 และราคาสินค้าส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 6.6
โดยเป็นผลจากการขยายตัวได้ดีของหมวดสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ และสินค้าเกษตร ในขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน อยู่ในระดับร้อยละ -2.9 เนื่องจากตลาดส่งออกหลักลดการสั่งซื้อเพื่อระบายสต๊อกสินค้า สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเร่งขึ้นมากทั้งจากสินค้าวัตถุดิบ ทุน และอุปโภคบริโภค
โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ 17.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 33.3 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.5 มาจากปริมาณการนำเข้าที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 23.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าขยายตัวร้อยละ 7.7 โดยมูลค่านำเข้าสินค้าที่เร่งขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าส่งผลทำให้ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2544 ขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ -0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนมกราคม 2554 พบว่า มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ทั้งจากการผลิตในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ขณะที่บริการจากการท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนมกราคม 2554 กลับมาขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยอยู่ที่ร้อยละ 3.4 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีและผลผลิตไก่เนื้อที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับราคาสินค้าเกษตรขยายตัวดีต่อเนื่องอยู่ในระดับร้อยละ 26.3 ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องร้อยละ 25.9 เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.1 สำหรับภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเป็นบวกหลังจากที่เดือนก่อนหน้าหดตัวลง
โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนมกราคม 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 3.7 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.4 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2554 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 112.7 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 109.7 จุด โดยเป็นการปรับตัวกลับเข้าสู่ระดับ 100 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
ในขณะที่เครื่องชี้ภาคบริการจากการท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยในเดือนมกราคม 2554 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 1.8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในทุกกลุ่มภูมิภาคเพิ่มขึ้น สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคบริการด้านการท่องเที่ยว
6. เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาในหมวดผักและผลไม้ และราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 1.3 อัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนธันวาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 2.68 แสนคน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 42.5 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0
สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 174.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.7 เท่า