GDP ไทยในไตรมาส 4 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสที่ 3 ปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 แต่ถือได้ว่าขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก พบว่าขยายตัวร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อนหน้า
โดยการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 3.8 และ 12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ในขณะที่ด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 4.8 เนื่องจากปัจจัยฐานสูง ประกอบกับมีการขยายการผลิตติดต่อกันหลายไตรมาสในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้ ทั้งปี 53 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 7.8
การเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ม.ค. 54 เบิกจ่ายได้จำนวน 235.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 56.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 54 จำนวน 220.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 10.7 ของกรอบวงเงิน 2.07 ล้านล้านบาท
ในขณะที่รายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้ 146.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 74.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1211.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การเบิกจ่ายที่สำคัญในเดือน ม.ค. 54 ได้แก่ เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 73.8 พันล้านบาท รายจ่ายงบชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจำนวน 16.2 พันล้านบาท และรายจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 15.2 พันล้านบาท
ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 เบิกจ่ายได้จำนวน 833.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 38.7 ทั้งนี้ คาดว่าผลการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 54 จะเป็นไปตามเป้าที่ร้อยละ 93.0 นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง2555 ณ วันที่ 18 ก.พ. 54 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 264.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 75.6 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท
ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ม.ค. 54 ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -108.0 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -35.1 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ของรัฐบาลขาดดุลจำนวน -143.1 พันล้านบาท และรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 15.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังการกู้เงินขาดดุลจำนวน -128.1 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ฐานะการคลังใน 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 ขาดดุลงบประมาณจำนวน -311.4 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -585 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ขาดดุลจำนวน -312.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 54 มีจำนวน 185.3 พันล้านบาท ซึ่งการการขาดดังกล่าวสะท้อนถึงการทำนโยบายการขาดดุลของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกหดตัวร้อยละ -1.1 จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยฐานสูงเมื่อปีที่แล้ว ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้าง
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง