เนื้อหาวันที่ : 2011-02-22 14:37:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1487 views

แฉเบื้องหลังกดดันไทยเลิกใช้ใยหิน ที่แท้ต่างชาติจ้องหาประโยชน์

ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ แฉเบื้องหลังปฏิบัติการกำจัดใยหิน ชี้ต่างชาติจ้องแสวงหาผลประโยชน์ เอกชนลั่นสงสารคนไทยตกเป็นเบี้ยล่าง

         

          ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ แฉเบื้องหลังปฏิบัติการกำจัดใยหิน ชี้ต่างชาติจ้องแสวงหาผลประโยชน์ เอกชนลั่นสงสารคนไทยตกเป็นเบี้ยล่าง

          แฉต้นเหตุการกำจัดใยหินในประเทศไทยมาจากองค์กรต่างชาติ IBAS ที่ตั้งธงแบนใยหินทั่วโลก แล้วเข้าไปเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการฟ้องร้องและการรื้อถอน โดยไม่สนใจว่าคนไทยต้องจ่ายเงินเพิ่มหลายพันล้านบาทต่อปี สร้างยอดขายมหาศาลให้วัตถุดิบทดแทนใยหิน สนับสนุนการผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายใหญ่

          วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ได้จัดแถลงข่าว “เปิดเบื้องลึก-ผ่าเบื้องหลัง ปฏิบัติการกำจัดใยหิน”

          นายมานพ เจริญจิตต์ ผู้อำนวยการศูนย์ไครโซไทล์ กล่าวว่า ปัจจุบันแร่ใยหินไครโซไทล์ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมใน 114 ประเทศ คิดเป็นจำนวนประชากรกว่า 5,565 ล้านคน และมีเพียง 48 ประเทศที่ห้ามใช้ หรือคิดเป็นจำนวนประชากรเพียง 1,048 ล้านคนเท่านั้น โดยประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ยังคงอนุญาตให้ใช้ใยหินไครโซไทล์ในสินค้าบางประเภท

          ทั้งนี้ ลักษณะการใช้งานใยหินในต่างประเทศแตกต่างจากประเทศไทย บางประเทศนำไปพ่นเพื่อป้องกันความหนาวเย็นจากสภาพอากาศ ทำให้มีความเข้มข้นของใยหินสูงถึง 80-90% จึงมีความเสี่ยงต่อการกระจายของเส้นใยหินมากกว่า ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ใช้แร่ใยหินประเภทไครโซไทล์ โดยนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้า ที่มีสัดส่วนเพียง 6-8% และเมื่อผสมในซีเมนต์แล้วก็เป็นเรื่องยากที่เส้นใยหินไครโซไทล์จะฟุ้งกระจายในอากาศจนก่อให้เกิดอันตราย

          นายอัศนี ชันทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ใยหินไครโซไทล์มีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการผลิตสินค้ามากกว่าการใช้สารทดแทนประเภทอื่น ซึ่งหากภาครัฐดำเนินมาตรการห้ามนำเข้าใยหิน จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของกระเบื้องมุงหลังคาในประเทศไทย

          ทั้งนี้ กระเบื้องมุงหลังคาที่มีใยหินมีความคงทน แข็งแกร่ง กว่ากระเบื้องหลังคาที่ไม่มีใยหินมาก โดยดูจากค่าความต้านแรงแตกหักตามมาตรฐานอุตสาหกรรมของกระเบื้องไม่มีใยหินต่ำกว่ากระเบื้องที่มีใยหินเกือบ 3 เท่า และการใช้งานในสภาพแวดล้อมจริง กระเบื้องหลังคาใยหินก็มีการพิสูจน์มาแล้วกว่า 30 ปี แต่กระเบื้องไม่มีใยหินเพิ่งเริ่มใช้เพียง 3 ปี ดังนั้น ผู้บริโภคอาจต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาบ่อยขึ้น หรือหากจำเป็นต้องขึ้นไปเหยียบหลังคาก็จะมีความเสี่ยงอันตรายมากขึ้น

          “เราได้ทำการทดสอบความแกร่งของสินค้ากระเบื้องลอนคู่ชนิดไม่มีใยหิน ที่จัดเก็บไว้นาน 2 ปีครึ่ง พบว่าความแข็งแกร่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคุณสมบัติที่แตกต่างกันในด้านความแข็งแกร่งคงทนนี้ มีผลต่อต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการจัดเก็บ เคลื่อนย้าย และขนส่ง ต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ” ดร.อัศนี กล่าว

          ดร.อัศนี กล่าวด้วยว่า หากภาครัฐบังคับให้เลิกใช้ใยหินไครโซไทล์ จะทำให้ต้นทุนและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นทันที 25-30% จากสารทดแทนที่มีราคาสูงกว่าแร่ใยหินไครโซไทล์ถึง 10 เท่า และยังส่งผลต่อความหลากหลายของสินค้าที่ลดลง เป็นการจำกัดทางเลือกในการใช้สินค้าของผู้บริโภค เพราะสารทดแทนไม่สามารถนำมาผลิตกระเบื้องลอนคู่ที่มีความหนาต่ำกว่า 5 ม.ม.ได้ และยิ่งเป็นกระเบื้องหลังคาลอนเล็กยิ่งทำไม่ได้เลย ทำให้สินค้ากลุ่มนี้หายไปจากตลาด หากเกิดการชำรุดจากกระเบื้องหลังคาเดิม จำเป็นต้องรื้อเปลี่ยนทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถซ่อมแซมบางแผ่นได้

          ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจและผู้ศึกษาโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากการสัมผัสใยหินในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปี กล่าวว่า จากการศึกษาโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากการสัมผัสแร่ใยหินไครโซไทล์ (เมโสเธลิโอมา) พบว่า ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยเมโสเธลิโอมารายแรกในปี 2511 และจนถึงปี 2542 มีผู้ป่วยทั้งหมด 39 รายในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จากการตรวจผู้ป่วยเมโสเธลิโอมาในแต่ละราย ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลทางด้านการแพทย์ที่ยืนยันชัดเจนว่าใยหินเป็นสาเหตุของการเกิดโรค

          นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ตรวจพบผู้ป่วยที่เป็นโรคเมโสเธลิโอมารายแรกนั้น เป็นช่วงเวลาก่อนที่ประเทศไทยจะมีการนำเข้าใยหินไครโซไทล์มาใช้ในอุตสาหกรรมในปี 2518 และบางรายที่ป่วยไม่มีประวัติทำงานในโรงงานกระเบื้องหรือสัมผัสแร่ใยหินไครโซไทล์แต่อย่างใด จนกระทั่งกรณีที่มีรายงานว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากการสัมผัสใยหิน

          แต่จากการตรวจสอบประวัติผู้เสียชีวิตรายนี้พบว่า เคยทำงานในโรงงานกระเบื้อง และสูบบุหรี่วันละ 1 ซอง จึงทำให้เชื่อว่าสาเหตุของการเสียชีวิตมาจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานมากกว่าการเป็นโรคเมโสเธลิโอมาจากการสัมผัสใยหิน เนื่องจากไม่พบผู้ป่วยรายอื่นในโรงงานดังกล่าวแต่อย่างใด

          “ในไทยพบผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดรายแรกก่อนที่ไทยอนุญาตให้นำเข้าใยหินไครโซไทล์มาใช้ในอุตสาหกรรม จึงเชื่อว่าสาเหตุของการเกิดโรคนั้นไม่ได้มาจากใยหิน เพราะตั้งแต่ที่ไทยใช้ใยหินมากว่า 30 ปี ก็ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่สาเหตุที่ยืนยันได้ว่าเกิดจากแร่ใยหินแม้แต่รายเดียว” ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ สมชัย กล่าว

          นายอุฬาร เกรียวสกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทกระเบื้องโอฬาร จำกัด กล่าวว่า การเริ่มต้นกล่าวหาว่าใยหินเป็นผู้ร้ายในสังคมไทยนั้น เกิดขึ้นจากกระแสของต่างชาติ โดยมีองค์กรที่ชื่อว่า IBAS (International Ban Asbestos Secretariat) ทำการเคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกการใช้ใยหินทั่วโลก โดยเบื้องหลังขององค์กรนี้คือผู้ที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลผู้อนุญาตให้นำเข้าและผู้ประกอบการที่ใช้ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหลังจากที่ห้ามใช้ใยหิน

          “IBAS พยายามแทรกซึมเข้าไปในองค์การอนามัยโลก หรือ WHO โดยการอ้างตัวอย่างอันตรายของใยหินที่เกิดขึ้น โดยไม่สนใจประเภทและวิธีการนำไปใช้ ความเข้มข้น และระยะเวลา ของแต่ละกรณี แต่ละประเทศ ว่าแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร เพราะ IBAS มีธงอย่างเดียว คือ Ban หรือให้เลิกใช้”

          นายอุฬารกล่าวด้วยว่า ในต่างประเทศที่ยกเลิกการใช้ใยหิน มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก แม้ว่าผู้ประกอบการจะยกเลิกการผลิตสินค้าที่มีใยหินไปแล้วก็ตาม ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายถึงกับล้มละลายตกเป็นภาระของรัฐบาลและสังคมต่อไป แต่ผู้ที่ร่ำรวยกลุ่มหนึ่งคือ ผู้ผลิตวัตถุดิบทดแทนใยหินซึ่งจะเป็นผู้ผูกขาดตลาด

          นอกจากนี้ การแบนนำเข้าใยหิน เป็นการส่งเสริมการผูกขาดของตลาดกระเบื้องมุงหลังคาในประเทศไทย เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมในด้านเงินทุนและองค์ความรู้ในการผลิตกระเบื้องไม่มีใยหิน รวมทั้งการทำให้บริษัทผู้ผลิตกระเบื้องขนาดเล็กไม่สามารถแข่งขันหรือถูกกีดกันจนไม่สามารถทำตลาดได้จนต้องเลิกกิจการไป

          “เรื่องนี้มีผู้ได้รับผลประโยชน์จากต่างชาติที่รอเก็บเกี่ยวจากการดำเนินมาตรการห้ามใช้ใยหิน แต่ผู้บริโภคคนไทยเป็นผู้ที่ต้องมาแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วน และต้องเข้าใจว่าขณะนี้สังคมไทยกำลังถูกต่างชาติรังแก” นายอุฬารกล่าว

          นายวิเชียร ผู้พัฒน์ ประธานที่ปรึกษา บริษัทไทยกระเบื้องหลังคา จำกัด กล่าวว่า หากให้เลิกใช้ใยหินทำกระเบื้องหลังคา บริษัทฯ ก็คงเลิกกิจการ เพราะการจะเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นแบบไม่มีใยหิน จะต้องลงทุนจำนวนมาก และก็ไม่รู้ว่าต้องเพิ่มเงินลงทุนและเวลาอีกนานแค่ไหนกว่าจะทำให้กระเบื้องหลังคาที่ไม่มีใยหินมีคุณสมบัติและคุณภาพที่เหมาะสมกับสภาพอากาศบ้านเราเทียบเท่ากระเบื้องใยหินได้

          “หากให้เลิกใช้ใยหินจริง ผมก็รู้สึกสงสารคนไทยที่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของต่างชาติ ถูกบังคับให้ใช้ของแพง คุณภาพต่ำ โดยไม่มีความจำเป็น ทำให้คนไทยต้องจ่ายเงินเพิ่มปีละหลายพันล้านบาท” นายวิเชียรกล่าว