Economic Indicators: This Week
รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ม.ค.54 มีจำนวนทั้งสิ้น 125.7 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.9 และสูงกว่าประมาณการ 20.5 พันล้านบาทหรือร้อยละ 19.4 โดยภาษีที่สำคัญมาจากภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในเดือน ม.ค. 54 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ในขณะที่ภาษีฐานรายได้ (ผลรวมของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ขยายตัวร้อยละ 21.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและรายได้ประชากร
ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 54 รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) มีจำนวนทั้งสิ้น 521.2 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.5 และสูงกว่าประมาณการ 64.2 พันล้านบาท หรือร้อยละ 14.1
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในเดือน ม.ค.54 ขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนธ.ค.53 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.3 และหากปรับผลทางฤดูกาลแล้วจะขยายตัวร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยจากกำลังซื้อของประชาชนและภาคการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ในเดือนธ.ค. 53 บ่งชี้ว่าการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวในเกณฑ์ดี และจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือนม.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 70.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 91.0 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า การขยายตัวดังกล่าวสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีความต้องซื้อที่อยู่อาศัยปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีหลังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ รวมทั้งอุปสงค์เพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 112.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 109.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวดีขึ้นโดยเฉพาะจากภาคการบริโภค ปัจจัยสำคัญมาจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศที่ขยายตัวดี ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 116.3 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 115.5 เนื่องจากผู้ประกอบการคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการจะปรับตัวสูงขึ้น
Economic Indicators: Next Week
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. 54 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ตามการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี และยางพารา เนื่องจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง จูงใจให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง