1. ปลากระป๋องจ่อขยับราคา 3 บาท
- รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ และกรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาปลากระป๋องอีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้า จะมีการปรับราคาขึ้นจาก 15 บาทเป็น 18 บาท และจาก 17 บาทเป็น 20 บาทต่อกระป๋อง
ทั้งนี้ เป็นเพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมาก หลังจากวัตถุดิบสำคัญคือ ปลาภายในประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงค่าเงินบาทผันผวนและการขาดแคลนแรงงานมากถึงร้อยละ 20 โดยธุรกิจปลากระป๋องของไทยในปี 54 คาดว่าจะเติบโตมากถึงร้อยละ 8
- สศค.วิเคราะห์ว่า แนวโน้มการปรับขึ้นราคาของปลากระป๋องส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนอุปสงค์ที่ยังอยู่ระดับสูงดูได้จากการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปในปี 53 ที่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 13.9 ส่งผลให้ สศค. คาดว่าในปี 54 อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0-4.5 (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 53)
2. แนวโน้มราคาข้าวส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 54 ขยับขึ้น
- สำนักข่าวรอยเตอร์ส สรุปการคาดการณ์ราคาตลาดโลกของข้าวเกรดบี ของไทย ในช่วงเดือน ก.พ. –มี.ค. 54 ว่ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แตะระดับ 550 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ในช่วงปลายเดือน ก.พ. 54 และ 567 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ในเดือน มี.ค.54 จากที่อยู่ระดับ 540 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ในช่วงต้นเดือน ก.พ.54 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจำนวนมากทั้งจากอินโดนีเซีย บังกลาเทศ และศรีลังกา
- สศค.วิเคราะห์ว่า การที่ราคาข้าวส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก อุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการสต็อคข้าวที่เพิ่มขึ้นของประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่อุปทานของสินค้าเกษตรในตลาดโลกรวมถึงไทย ได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวน
ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงข้าวปรับตัวลดลง และส่งผลต่อเนื่องต่อความกังวลของความมั่นคงด้านอาหารของโลก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันราคาสินค้าเกษตรให้ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปี 53 ราคาข้าวส่งออกของไทยหดตัวร้อยละ -11.1
3. เศรษฐกิจจีนแซงญี่ปุ่นรั้งอันดับ 2 ขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 53
- ทางการญี่ปุ่นเผย GDP ปี 53 ที่ 5.4742 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่า GDP ของจีนที่ประกาศเมื่อ ม.ค. 54 ในระดับ 5.8786 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนสามารถแซงหน้าญี่ปุ่นกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก
- สศค.วิเคราะห์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราเร่งของจีนส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าและปริมาณจากไทยไปจีน โดยปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย โดยมีสัดส่วนที่ร้อยละ 11.0 ของมูลค่าการส่งออกจากไทย อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ควบคู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนคือ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
โดยมีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร การขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และการลงทุนเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น จีนจึงมีแนวทางการควบคุมปัญหาเงินเฟ้อโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเพิ่มความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อและควบคุมความเสี่ยงของการเกิดฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง