พรทิวา จี้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกเร่งงัดกลยุทธ์หาทางรักษาส่วนแบ่งตลาด หลังเวียดนามปล่อยหมัดเด็ดประกาศลดค่าเงินด่องชิงความได้เปรียบด้านราคา
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
พรทิวา จี้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกเร่งงัดกลยุทธ์หาทางรักษาส่วนแบ่งตลาด หลังเวียดนามปล่อยหมัดเด็ดประกาศลดค่าเงินด่องชิงความได้เปรียบด้านราคา
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้กำชับให้กรมส่งเสริมการส่งออกสั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกเร่งดำเนินการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด หลังเวียดนามประกาศลดค่าเงินด่อง
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ได้กำชับให้กรมส่งเสริมการส่งออกสั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกเร่งดำเนินการหลังเวียดนามประกาศลดค่าเงินด่อง โดยให้รักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ให้ดำเนินมาตรการส่งเสริมและพัฒนาผู้ส่งออกไทยในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ และให้จัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดหลักจากการที่ธนาคารกลางของเวียดนาม (The State Bank of Vietnam : SBV)ได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 ลดค่าเงินด่อง
โดยปรับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยระหว่างธนาคาร (interbankaverage FX rate) จาก 18,932 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 20,693 ด่องต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 9.3 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งการปรับลดค่าเงินด่องของเวียดนามในครั้งนี้มีผลกระทบต่อประเทศไทยแน่นอน เนื่องจากเวียดนามถือเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยบนตลาดโลกในสินค้าหลายประเภท
ดังนั้นการลดค่าเงินด่องจะทำให้สินค้าเวียดนามมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในเชิงราคามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าข้าว ซึ่งในปี 2553 เวียดนามได้ส่งออกข้าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า โดยสามารถส่งออกได้เกือบ 7 ล้านตันคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3,230 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดีตลาดส่งออกข้าวของเวียดนามและไทยยังคงเป็นคนละตลาดเพราะเวียดนามครองตลาดล่างที่มีราคาถูก และแม้เวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยแต่เวียดนามก็เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยด้วยเช่นกัน โดยเป็นตลาดส่งออกสำคัญลำดับที่ 9 ของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของการส่งออกทั้งหมดทั่วโลก
โดยในปี 2553 ไทยมีการส่งออกสินค้าไปเวียดนามเป็นมูลค่ากว่า 5,845 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 และไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่าถึง 3,293 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปตลาดเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบและรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังกำชับให้กรมส่งเสริมการส่งออกสั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกเร่งดำเนินการดังนี้ รักษาส่วนแบ่งทางการตลาดโดยเฉพาะตลาดที่เวียดนามเป็นคู่แข่งได้แก่ ตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเวียดนามส่งออกเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 18 สินค้าที่ส่งออกได้แก่ สิ่งทอ อาหารทะเล และไม้แปรรูป ตลาด E.U. เวียดนามส่งออกร้อยละ 14
โดยสินค้าส่งออกได้แก่ สิ่งทอ และอาหารทะเล และตลาดอาเซียนส่งออกร้อยละ 13 สินค้าส่งออกได้แก่ อาหาร และผ้าผืน อีกมาตรการคือ จัดให้มีมาตรการส่งเสริมและพัฒนาผู้ส่งออกไทยในการลดต้นทุนโลจิสติกส์พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาคุณภาพสินค้า พร้อมส่งเสริมการออกแบบ เพื่อการส่งออกอย่างยั่งยืน และมาตรการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดหลัก เช่น การจัดโรดโชว์ ส่งเสริมการขายร่วมกับห้างดังต่างๆ และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าการลดค่าเงินด่องของประเทศเวียดนามในครั้งนี้ จะมีผลทำให้สินค้าที่เวียดนามนำเข้าจากไทยมีราคาสูงขึ้นและกำลังซื้อของเวียดนามที่อาจจะลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังเวียดนามอยู่บ้าง
แต่ด้วยมาตรการต่างๆ ข้างต้นที่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการส่งออกดำเนินการจะทำให้การลดค่าเงินด่องของเวียดนามในครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก เนื่องจากมีผู้ประกอบการไทยบางส่วนเข้าไปลงทุนในเวียดนามในสินค้าสิ่งทอและอาหารแปรรูป ทำให้การลดค่าเงินด่องในครั้งนี้อาจส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยในเวียดนามด้วย.
ที่มา : สำนักข่าวไทย, เว็บไซต์รัฐบาลไทย