กรมการค้าระหว่างประเทศ เรียกถกกลุ่มธุรกิจบริการไทย หาแนวทางยกระดับคุณภาพบริการ เตรียมก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน พร้อมเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลก
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมฯ ได้จัดประชุมหารือกลุ่มย่อยกับกลุ่มธุรกิจบริการสาขาท่องเที่ยว และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐบาล และภาคเอกชน ตลอดจนนักวิชาการ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนสาขาท่องเที่ยว เพื่อรับฟังข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น
รวมทั้งข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกลุ่มธุรกิจบริการสาขาท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยอาเซียนจะต้องเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ร้อยละ 70 ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่ได้ดำเนินการมากไปกว่าที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มีกิจกรรมที่ส่งเสริมในสาขาธุรกิจบริการ ทั้งในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่เน้นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้พร้อมออกไปแข่งขันได้ ในขณะที่กรมส่งเสริมการส่งออก เน้นการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่พร้อมจะออกไปแข่งขันในต่างประเทศ
นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศยังมีโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA) โดยปัจจุบันมีโครงการที่ให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับธุรกิจบริการ 3 โครงการ คือ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และโลจิสติกส์
นอกจากนี้ยังได้เตรียมแนวทาง กลไก การเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจบริการกลุ่มนี้ ให้มีความพร้อมที่จะแข่งขันกับต่างชาติได้ในอนาคต โดยจะต้องมีการยกระดับคุณภาพธุรกิจบริการของไทยให้ได้มาตรฐานทั้งในส่วนของการดำเนินธุรกิจให้มีความเป็นสากล
แต่ในขณะเดียวกันต้องคงอัตลักษณ์ความเป็นไทยทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรมไทย รวมไปถึงด้านบุคลากรที่จะต้องสร้างเสริมความแข็งแกร่ง ในเรื่องของภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นอาเซียน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่นจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดจากการดำเนินธุรกิจอย่างไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ได้เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีในรูปภาษีบำรุงท้องถิ่น เพื่อเป็นการช่วยรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อมตามสถานที่ท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง และยังได้เสนอให้พิจารณาหลักสูตรมัคคุเทศก์เป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ทุกสถาบันต้องเรียนเหมือนกัน บวกกับส่วนที่แตกต่าง ซึ่งแต่ละสถาบันสามารถเลือกได้อย่างอิสระ เพื่อเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของแต่ละสถาบันในแต่ละท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศอาเซียนทั้งสิบประเทศ รวมไปถึงจีนด้วย ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ให้ใบอนุญาตจัดตั้งบริษัทได้สะดวกที่สุด ขณะเดียวกันพบว่ามีคนไทยจำนวนมากที่จบจากสถาบันการศึกษาไทย ทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และโรงเรียนการจัดการและการท่องเที่ยวนานาชาติ (ITIM) สามารถเข้าไปทำงานในธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในเวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น
ที่มา : สำนักข่าวไทย, เว็บไซต์รัฐบาลไทย