1. หนี้สาธารณะในเดือน ธ.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 42.49
- สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เผยสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือน ธ.ค. 53 มีจำนวน 4,279.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.49 ของ GDP โดยเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 3,002.4 พันล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,078.8 พันล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 168.1 พันล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 30.6 พันล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 42.49 ซึ่งต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ของ GDP บ่งชี้ถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในภาคการคลังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกให้ภาครัฐสามารถดำเนินนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้อย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และยังสามารถรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ โครงสร้างหนี้สาธารณะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยสัดส่วนหนี้ในประเทศและหนี้ระยะยาวอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 91.64 และร้อยละ 97.95 ของหนี้คงค้างตามลำดับ
2. ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีเดือนธ.ค. 53 สูงสุดในรอบปี
- สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ เดือนธ.ค.53 ว่า ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 55.0 นับเป็นระดับสูงสุดในรอบปีและเกินระดับ 50 ในรอบ 11 เดือน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศปรับตัวดีขึ้น
การส่งออกขยายตัวในระดับสูง บรรยากาศการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหลักทรัพย์ที่ยังคงเพิ่มมากขึ้น และราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในระดับที่ดี ประกอบกับเป็นช่วงเวลาของเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเพิ่มมากกว่าปกติ
- สศค.วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการในเดือนธ.ค.53 ที่สูงสุดในรอบปี สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่มีต่อการดำเนินกิจการในปัจจุบัน หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้ามีปัจจัยลบที่เข้ามากระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัญหาอุทกภัยและการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท
ทั้งนี้ ยังสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค 53 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 109.7 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 99.7 จุด โดยเป็นการปรับตัวเข้าสู่ระดับ 100 จุด บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและเป็นตัวสะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนธ.ค.53ขยายตัวได้ดี ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 สามารถขยายตัวได้อย่างน้อยตามที่คาดการณ์ไว้เดิมร้อยละ 7.8
3. ยอดเงินกู้คงค้างของธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นลดลงเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน
- ยอดเงินกู้คงค้างของธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นเดือน ม.ค.54 ลดลงร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 และสะท้อนถึงนโยบายการเงินที่คงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ไม่สามารถกระตุ้นการเติบโตของสินเชื่อในประเทศได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า ถึงแม้การบริโภคในประเทศของญี่ปุ่นจะปรับตัวดีขึ้น และมูลค่าการส่งออกปี 53 สามารถขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 24.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า กอปรกับในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ใช้นโยบายการเงินโดยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อให้เอกชนหันมากู้เงินจากระบบธนาคารมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถที่จะกระตุ้นอุปสงค์เพื่อการลงทุนในประเทศและการเติบโตของสินเชื่อได้
ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงอาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นจะต้องระวังผลกระทบของการใช้นโยบายดังกล่าวที่อาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่มีอยู่ในระดับสูง จนอาจสร้างความไม่มั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
ที่มา : สำนักงาเศรษฐกิจการคลัง