เนื้อหาวันที่ : 2011-02-09 11:53:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 788 views

วว.เจ๋งวิจัยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเส้นใยผลไม้ไทย

วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบพลอยได้จากอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ เป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเส้นใยผลไม้ไทย ระบุไขมันต่ำช่วยลดคอเลสเตอรอลป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบพลอยได้จากอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ เป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเส้นใยผลไม้ไทย ระบุไขมันต่ำช่วยลดคอเลสเตอรอลป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบพลอยได้จากอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ เป็น “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเส้นใยผลไม้ไทย” ระบุมีปริมาณใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ให้พลังงานน้อย ไขมันต่ำ ช่วยลดคอเลสเตอรอล คงระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยการขับถ่ายอุจจาระ ขับถ่ายสารพิษ/สารก่อมะเร็ง ป้องกันท้องผูก ริดสีดวงทวารหนัก และป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ พร้อมต่อยอดงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่สามารถอุ้มน้ำและน้ำมันสูงขึ้นกว่าเดิมอีก 4 เท่า

นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเส้นใยผลไม้ไทย ผลิตภัณฑ์มีจุดเด่นคือ มีปริมาณใยอาหารสูง จึงให้พลังงานน้อย ไขมันต่ำ มีสัดส่วนที่เหมาะสมของใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำซึ่งช่วยการขับถ่ายอุจจาระ ขับถ่ายสารพิษ และสารก่อมะเร็ง

ป้องกันท้องผูกและริดสีดวงทวารหนัก และป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ และใยอาหารที่ละลายน้ำซึ่งช่วยลดคอเลสเตอรอล คงระดับน้ำตาลในเลือด เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ตามธรรมชาติ เพื่อผลิตกรดไขมันสายสั้นที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่และตับ

นอกจากนี้ยังมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีความสามารถในการอุ้มน้ำและอุ้มน้ำมันได้ดี จึงช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระและกำจัดไขมันออกจากร่างกายได้ดี มีความสามารถในการเป็นพรีไบโอติก ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับระบบทางเดินอาหาร และผ่านการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง จึงมีความปลอดภัยในการบริโภค

“ตลาดของใยอาหารมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตสินค้าอาหารจำหน่ายทั่วโลก เห็นความสำคัญและเร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีการเติมใยอาหารหลากหลายชนิด

แต่อย่างไรก็ตาม ใยอาหารที่ใช้ปัจจุบันล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น อีกทั้งยังไม่มีการผลิตเชิงพาณิชย์ภายในประเทศ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพมีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศอื่นในตลาดโลกลดน้อยลง และมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหามากขึ้นในอนาคต

เมื่อ วว. พิจารณาจากพื้นฐานของประเทศที่มีจุดแข็งด้านทรัพยากรการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร ทำให้มีโอกาสสูงที่จะนำทรัพยากรที่มีมากเหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตใยอาหาร ที่สามารถใช้สำหรับอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้งสามารถพัฒนาเป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ

โครงการนี้จึงเห็นถึงความสำคัญและโอกาสที่ดีในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใยอาหารจากวัตถุดิบพลอยได้ของอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ เพื่อรองรับความต้องการของวัตถุดิบชนิดนี้ทั้งในและต่างประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบพลอยได้ของอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ จึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดีและยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร.โศรดา วัลภา นักวิชาการ ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเส้นใยผลไม้ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ใยอาหาร (dietary fiber) จัดเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่

ผู้บริโภคต่างตื่นตัวและเห็นความสำคัญในการบริโภคใยอาหารมากขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก จึงเลือกที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเติมใยอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหารหลายชนิด ทั้งผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนม ผลิตภัณฑ์ประเภทเบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ฯลฯ

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเส้นใยผลไม้ไทยผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว โดยปริมาณที่สามารถใช้ในผลิตภัณฑ์จะแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกและลูกชิ้นสามารถใช้ได้ในปริมาณ 3-7 เปอร์เซ็นต์

ผลิตภัณฑ์ขนมปังแซนวิชสามารถใช้ใยอาหารได้ในระดับที่สามารถจัดว่าเป็นขนมปังที่มีใยอาหารสูง (ไม่ต่ำกว่า 20 % Thai RDI) ผลิตภัณฑ์ขนมปังขาไก่สามารถเติมใยอาหารในระดับที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นแหล่งของใยอาหาร (10-19% Thai RDI) โดยไม่ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้เติมใยอาหาร

หัวหน้าโครงการวิจัยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเส้นใยผลไม้ไทยของ วว. กล่าวถึงโครงการต่อยอดงานวิจัยในอนาคตว่า จากงานวิจัยนี้พบว่าวัตถุดิบพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมผักผลไม้อีกหลายชนิดที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใยอาหารที่มีสมบัติที่ดีได้ หากได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ขณะนี้ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร วว. กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใยอาหารชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำและน้ำมันสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างน้อย 4 เท่า เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้ในอาหารระดับที่สูงขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ”ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเส้นใยผลไม้ไทย” และงานบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอาหาร ได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้า วว. โทร. 0 2577 9300 หรือที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 ในวันและเวลาราชการ www.tistr.or.th E-mail : tistr@tistr.or.th