1. ธนาคารรัฐอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจปี 53
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) ในปี 53 ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยธนาคารของรัฐ 6 แห่งปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ ม.ค. - พ.ย. 53 ได้ถึง 1.26 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าถึงร้อยละ 63 และมีผู้ได้ประโยชน์จากการเข้าถึงสินเชื่อ 5.1 ล้านราย
- สศค.วิเคราะห์ว่า การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการกึ่งการคลัง(Quasi-Fiscal policy) ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นการช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีส่วนทำให้สินเชื่อในปี 53 ขยายตัวถึงร้อยละ 12.5 เร่งขึ้นมากจากปี 52 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการรายย่อยในการเข้าถึงเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
2. เอกชนไทยผวาลงทุนกัมพูชา
- ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากการสู้รบระหว่างสองประเทศในระยะสั้นยังไม่มาก ประกอบกับภาคธุรกิจที่ไปลงทุนในกัมพูชายังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ผู้ประกอบการก็เริ่มหวาดระแวงเรื่องความไม่ปลอดภัย ขณะที่ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากปัญหาที่เกิดขึ้น คาดว่าจะกระทบกับการค้าชายแดนวันละ 30 – 50 ล้านบาท
หากความรุนแรงขยายตัวเพิ่มขึ้น ความเสียหายจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 – 70 ล้านบาทต่อวันในระยะยาว แบ่งออกเป็นความเสียหายจากการค้าชายแดน 30 -50 ล้านบาท และผลกระทบจากการท่องเที่ยว 20 ล้านบาท
- สศค.วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ความไม่สงบทางชายแดนไทย – กัมพูชาคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพียงระยะสั้น โดยผ่านทางรายได้จากการส่งออกและนักท่องเที่ยว ซึ่งการส่งออกสินค้าของไทยไปกัมพูชาในปี 53 มีมูลค่า 2,342.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 48.2
โดยสินค้าที่ส่งออกสำคัญได้แก่น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย และปูนซีเมนต์ และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากกัมพูชาล่าสุดในเดือน ม.ค. 53 มีจำนวน 11,336 คน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยในปี 53 มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 54 ไม่มาก โดยทั้งปี 54 สศค.คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0 – 5.0) ประมาณการ ณ ธ.ค. 53
3. การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือนม.ค. 54 เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด
- สหรัฐฯ ประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ม.ค. 54 พบว่าเพิ่มขึ้น 36,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 145,000 ตำแหน่ง สาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์การเกิดพายุหิมะที่ทำให้มีความยากลำบากในการสมัครงาน ทั้งๆที่ความต้องการแรงงานไม่ได้ลดลง
ทั้งนี้ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นทำให้คาดว่าสถานการณ์การผลิตของสหรัฐฯน่าจะฟื้นตัวได้ นอกจากนี้ อัตราการว่างงานเดือน ม.ค. 54 ยังลดลงจากเดือน ธ.ค. 53 ร้อยละ 0.9 ซึ่งถึงแม้การว่างงานจะลดลง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐชะลอการใช้มาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าในเดือน ม.ค.54 เศรษฐกิจสหรัฐฯได้รับผลกระทบจากพายุหิมะ ทำให้ภาวะการจ้างงานมีความยากลำบากมากขึ้น แต่เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจบางตัวยังคงบ่งชี้การฟื้นตัว เช่น ดัชนีภาคบริการเดือน ม.ค. ของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 59.4 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 57.1 จุด ของเดือน ธ.ค. 53 ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 57 จุด
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง