เนื้อหาวันที่ : 2011-02-02 15:19:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 979 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 1 ก.พ. 2554

1.  เศรษฐกิจไทยรุ่งเกินดุลบัญชีเดินสะพัด
-  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2553 ว่ายอดส่งออกขยายตัวร้อยละ 28.5 คิดเป็นมูลค่า 193,663 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยอดนำเข้าขยายตัวร้อยละ 36.8 คิดเป็นมูลค่า 179,632 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยมีดุลการค้าเกินดุลที่ 14,031 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลสุทธิทั้งปีกว่า 14,784 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี
 
-  สศค. วิเคราะห์ว่า การเกินดุลของดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 53 สะท้อนถึงภาคการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง และยังสะท้อนให้เห็นว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศของไทยอยู่ในระดับแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 8.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ ปัจจุบันเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศด้านอื่นๆ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี เช่น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงกว่า 1.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น  ซึ่งสามารถรองรับความเสี่ยงจากความความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลกได้
 
2.ธปท. คาดปี 54 ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-9
-  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า ในปี 54 ต้นทุนการผลิตจะปรับเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาพลังงานและราคาสินค้าหมวดอาหารสำเร็จรูปที่แนวโน้มสูงขึ้น และทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการน่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-9 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักกดดันให้เงินเฟ้อหรือระดับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า ในปี 54 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ร้อยละ 4-6
 
-  สศค.วิเคราะห์ว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญในปี 54 คือ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ขยายตัวในระดับสูง ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ ในขณะที่อุปทานลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบภัยธรรมชาติ ทั้งนี้ คาดว่าในปี 54 อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวร้อยละ 3.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0 ถึง 4.5) เร่งขึ้นจากปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3
 
3.ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ฟื้นตัวขึ้น
-  สำนักข่าวโตเกียวเผยว่าผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทะยานสูงขึ้นในช่วงธ.ค.53 ท่ามกลางสัญญาณว่าสินค้าคงคลังเริ่มลดลง  และอุปสงค์จากสินค้าส่งออกเริ่มปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะเป็นปัจจัยให้ธนาคารกลางเกาหลี (BOK) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อ
 
-  สศค.วิเคราะห์ว่า จากการที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้พึ่งพาจีนด้านการค้าเพิ่มมากขึ้น โดยจีนมีการนำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สูงเป็นอันดับ 1 และ 3 ที่สัดส่วนประมาณร้อยละ 17 และ 11 ตามลำดับ ดังนั้น หากรัฐบาลจีนมีนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และป้องกันปัญหาฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมการผลิตของทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันการพัฒนาอุตสาหกรรมและการแข่งขันด้านราคาสินค้าของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ปรับเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาภาคการผลิต ทีวี คอมพิวเตอร์ และเซมิคอนดักเตอร์มาสู่การผลิตสินค้าที่แต่ละตลาดต้องการ (Niche Market) ซึ่งเป็นการเพิ่มการแข่งขันในตลาดสากลเพิ่มมากขึ้น