ครม.ขิงแก่ เริ่มหน้ามืด! ไม่ฟังเสียงภาคประชาชนคัดค้านต้านไม่เอาขยะพิษจากญี่ปุ่น ยังเดินหน้าไฟเขียวลงนามเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น คาดเมษายนนี้ จี้รัฐแจง 2 ประเด็น เรื่องของเสียอันตราย และสิทธิบัตรจุลชีพ ทุกเงื่อนไขอย่างโปรงใส วอนรัฐบาล "พอเพียง" อย่าปกปิดข้อมูล! ชี้ผลกระทบกับคนไทยทั้งประเทศ
พล.อ.สุรยุทย์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. ว่า กระทรวงการต่างประเทศรายงานให้ที่ประชุมรับทราบร่างข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) หรือเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากสภานิติบัญญัติ (สนช.) มีข้อห่วงใย 2 เรื่อง คือ เรื่องขยะพิษ และสิทธิบัตรจุลชีพ ซึ่งประชุมมอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศนำข้อสังเกตดังกล่าวไปหารือกับญี่ปุ่นและนำเสนอต่อ ครม. อีกครั้งสาระสำคัญของร่างข้อตกลง JTEPA ที่ไทยและญี่ปุ่น จะลงนามกันนั้น ยืนยันว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยจะยึดตามกรอบเดิมที่ได้มีการเจรจาตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ |
. |
นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ครม. เห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งฝ่ายญี่ปุ่นในหลักการฝ่ายไทยมีความพร้อมที่จะลงนามข้อตกลง แต่ทั้งสองฝ่ายต้องมีการทำความเข้าใจ และทำให้เกิดความชัดเจนในการลดความกังวลใจของฝ่ายไทย ซึ่งมีความเป็นห่วงใน 2 ประเด็น คือ เรื่องของเสียอันตราย และสิทธิบัตรจุลชีพ ทั้งนี้วิธีการลดความกังวลใจ ยังไม่ทราบว่าจะดำเนินการรูปแบบใดซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาทางการทูต ขณะนี้ได้มีการติดต่อกับญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องคาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนเสนอให้ที่ประชุม ครม. รับทราบ และคาดว่าจะมีการลงนามข้อตกลง JTEPA ได้ประมาณต้นเดือนเมษายน 2550 |
. |
นายพิศาล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงดำเนินการ 1.เร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบ และกลไกการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตาม ควบคุม และการจัดการของเสียอันตราย 2.กำหนดมาตรการรองรับที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความตกลง 3.เร่งรัดเตรียมการให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม |
. |
นายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ยืนยันว่า ไม่มีข้อตกลงฯ ที่จะให้ญี่ปุ่นส่งขยะพิษมาประเทศไทย และไม่มีข้อตกลงใดที่จะให้ไทยต้องรับสิ่งใดจากญี่ปุ่น ดังนั้นประเด็นขยะพิษจึงไม่มีประเด็นที่ต้องกังวลใจ ขณะที่สาระสำคัญในข้อตกลงฯ มีการกำหนดว่าทั้งสองประเทศจะไม่ลดมาตรฐานการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมลง และไทยมีสิทธิบังคับใช้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสิทธิของไทยที่จะบังคับใช้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มที่ และไทยเป็นผู้กำหนดว่าอะไรนำเข้าได้ และอะไรนำเข้าไม่ได้ และไทยสามารถแก้กฎหมายได้ตามข้อยกเว้นกรณีที่ต้องการสงวนทรัพยากรธรรมชาติ และการคุ้มครองสุขภาพพืช และสัตว์ นายวีรชัย กล่าว |
. |
สำหรับประเด็นจุลชีพนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิเสธคำขอ กรณีการจดสิทธิบัตรจุลชีพตามธรรมชาติได้ในทันที ส่วนสิทธิบัตรจุลชีพตามธรรมชาตินั้นต้องมีการรับพิจารณา แต่จะรับจดสิทธิบัตรหรือไม่จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามกฎหมายไทย |
. |
นายพินิจ กอศรีพร รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการแสดงความเห็นของ สนช.ได้เรียกรองให้แสดงความชัดเจนการนำเข้าขยะของเสีย ที่อาจมีการนำเข้าภายหลังการลงนามเกิดขึ้น ประกอบกับกังวลว่าประเทศญี่ปุ่นอาจเข้ามาจดสิทธิบัตรจุลชีพ อาจก่อให้เกิดการผูกขาดทางพันธุ์พืชใหม่ที่จะส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม |
. |
นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงกรณีที่มีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับร่างความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ภายใต้กรอบเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น โดยทั้ง 2 ประเทศจะมีการลงนามข้อตกลงระหว่างกันได้ในเร็ว ๆ นี้ จะส่งผลร้ายแรงทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียฐานทรัพยากรอย่างมหาศาลให้กับต่างชาติที่จะเข้ามาจดสิทธิบัตรจุลชีพของไทย ที่มีการระบุร่างข้อตกลงแต่ละฝ่ายจะต้องให้ความมั่นใจว่าคำขอรับสิทธิบัตรใดๆ จะไม่ถูกปฏิเสธเพียงเพราะเหตุผลอย่างเดียวว่าสาระที่ขอสิทธิในคำขอนั้นเกี่ยวกับจุลชีพที่มีอยู่ธรรมชาติ |
. |
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการตีข้อความนี้ในเชิงลึกจะเห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการจดสิทธิบัตรไทยในปัจจุบัน และไทยจะไม่สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติตามที่หลายฝ่ายกังวลใจ ที่สำคัญจุลชีพที่จะขอรับการจดสิทธิบัตรได้ต้องเป็นจุลชีพใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนและเกิดจากความสามารถของมนุษย์ในการประดิษฐ์คิดทำหรือคิดแปลงหรือพัฒนาต่อยอดให้เกิดขึ้นมา ดังนั้น จุลชีพของเดิมที่ไทยมีอยู่แล้วและมีการจดสิทธิบัตรอยู่แล้วจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนและกระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป |
. |
ส่วนความคืบหน้ากรณีที่นายมาซากิ ฟุรุยะ ชาวญี่ปุ่นยื่นจดสิทธิบัตรเครื่องหมายการค้าฤๅษีดัดตนหลังจากเข้ามาร่ำเรียนที่วัดโพธิ์ ในประเทศไทยและได้ทำการยื่นจดสิทธิบัตรเครื่องหมายการค้าพร้อมทั้งจะทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสารโดยจะควบคู่ไปกับการสอนโยคะ โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้มีการคัดค้านไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ญี่ปุ่นแล้วและได้มีการระงับการจดสิทธิบัตรตามคำคัดค้านของประเทศไทย แต่ทางผู้ยื่นจดมีการร้องว่าสามารถที่จะขอใช้ชื่อเพื่อจะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร และการสอนโยคะได้โดยให้เหตุผลว่า ทำให้ชื่อฤๅษีดัดตนเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น ซึ่งเรื่องดังกล่าว ผู้ยื่นจดได้ให้ข้อมูลเป็นภาษาญี่ปุ่น และจากการที่ไทยได้ว่าจ้างทนายความชาวญี่ปุ่นกำลังศึกษารายละเอียดคำคัดค้านดังกล่าวแต่ยืนยันว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้นิ่งนอนใจ จะหารือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของญี่ปุ่นและวัดโพธิ์เพื่อหาทางป้องกันการละเมิดดังกล่าวต่อไป |
. |
นางพวงรัตน์ กล่าวอีกว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเร่งประสานไปยังประเทศอินโดนีเซียกรณีที่มีบริษัทในอินโดฯ ได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าและสินค้าหมวกกันน็อกไทยยี่ห้อ INDEX รวมทั้งได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าไทยแลนด์ แบรนด์ ที่อาจทำให้เกิดความสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดสินค้าที่จะมีผลเสียหายทำให้สินค้าไทยไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดอินโดฯ ได้ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยได้ส่งหนังสือแจงไปยังทางการอินโดฯ แล้ว เพื่อขอความร่วมมือกันปราบปรามและตรวจจับกันให้มากขึ้น และในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ไทยและอินโดฯ โดยเฉพาะกรมทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสองฝ่ายจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ที่จะช่วยกันปกป้องปราบปรามปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ ต่อไป |