เนื้อหาวันที่ : 2011-02-02 10:06:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1647 views

ไอดีซี ชี้ตลาดไอซีทีไทยปี 54 ยังโตได้ต่อเนื่อง

ไอดีซี คาดการณ์ทิศทางตลาดไอซีทีของไทยปี 2554 ชี้ยังเติบโตต่อเนื่อง รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น

ไอดีซี คาดการณ์ทิศทางตลาดไอซีทีของไทยปี 2554 ชี้ยังเติบโตต่อเนื่อง รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น

ไอดีซีคาดว่าทิศทางของตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม (ไอซีที) ของประเทศไทยในปี 2554 นั้นจะถูกกำหนดโดยความก้าวหน้าของโซเชียลมีเดีย การเติบโตที่มีอัตราสูงขึ้นของสมาร์ทโฟน และการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ต่อการให้บริการดาต้าทั้งในการสื่อสารแบบมีสายและไร้สาย

นายอรรถพล สาธิตคณิตกุลผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยและที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของไอดีซี กล่าวว่า "เราเชื่อว่าการตื่นตัวของผู้บริโภคด้านโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลคือปัจจัยหลักที่จะทำให้การใช้จ่ายด้านไอซีทีเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ ส่วนในภาคธุรกิจนั้นกลุ่มที่มีแนว โน้มที่จะใช้จ่ายสูงที่สุดคือกลุ่มของสถาบันการเงิน การสื่อสาร รวมทั้งภาครัฐด้วย”

“เราคาดว่าบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยจะหันมาพัฒนาธุรกิจโดยใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียมากขึ้น หลังจากที่เล็งเห็นแล้วว่ากระแสของแพลตฟอร์มตัวใหม่นี้ยังคงแรงอย่างต่อเนื่อง”

จากข้อมูลการวิจัยล่าสุด และ การวิเคราะห์ร่วมกันของนักวิเคราะห์ในประเทศไทย ไอดีซีสรุปได้ว่า แนวโน้มสำคัญ 10 ประการที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมของประเทศไทยในปี 2554 มีดังต่อไปนี้

1. การใช้จ่ายด้านไอทีจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2554
ไอดีซีคาดว่าการใช้จ่ายด้านไอทีที่ฟื้นตัวขึ้นมาจากปี 2553 จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยภาพรวมของการใช้จ่ายซื้อสินค้าทั้งฮาร์ดแวร์ และ ซอฟท์แวร์ ตลอดจนการใช้จ่ายเพื่อซื้อบริการด้านไอทีต่างๆ เพิ่มนั้น มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 9.3% ซึ่งหมายความว่าตัวเลขการใช้จ่ายน่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 1.95 แสนล้านบาทได้

2. การใช้จ่ายด้านบริการโทรคมนาคมยังคงมีแนวโน้มที่ดี
ไอดีซีคาดว่า ตลาดการให้บริการด้านโทรคมนาคมของประเทศไทย จะยังคงรักษาแนวโน้มการเติบโตเอาไว้ได้ โดยในปี 2554 นั้นการเติบโตน่าจะเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับตลาดโทรคมนาคมพื้นฐานและไร้สายที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น 3% เช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นการให้บริการผ่านเครือข่ายไร้สายจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 66% ของตลาดการให้บริการด้านโทรคมนาคมทั้งหมด

รายได้หลักของผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมยังคงมาจากการให้บริการด้านเสียง (Voice) ถึงแม้ว่าจะเติบโตเพียง 1% เท่านั้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงกันข้ามกับการให้บริการด้านข้อมูล (Data) ที่จะขยายตัวขึ้น 16% ไอดีซีคาดว่าในปี 2554 เม็ดเงินจากการใช้จ่ายด้านการให้บริการมัลติมีเดียและบรอดแบนด์เคลื่อนที่จะรวมเป็น 70% ของตลาดการให้บริการด้านข้อมูล (Data) ผ่านเครือข่ายไร้สายทั้งหมดในประเทศไทย

3. คอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก (มินิโน๊ตบุ๊ค) จะได้รับผลกระทบจากมีเดียแท็บเล็ต
ในปัจจุบันถึงแม้สินค้าประเภทมีเดียแท็บเล็ตจะยังคงมีจำหน่ายไม่แพร่หลายนัก แต่เพียงแค่กระแสของอุปกรณ์ตัวใหม่นี้ ก็ทำให้ผู้บริโภคเริ่มชะลอการตัดสินใจ ที่จะซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมินิโน๊ตบุ๊ค

ยิ่งไปกว่านั้นการที่บรรดาผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนตัดสินใจหันมาผลิตมีเดียแท็บเล็ตออกสู่ตลาด จะยิ่งส่งผลกระทบทางลบต่อตลาดมินิโน๊ตบุ๊คมากขึ้น ทั้งนี้เพราะอุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิดนี้ต่างมุ่งเป้าไปที่ผู้บริโภคกลุ่มใกล้เคียงกันนั่นเอง โดยไอดีซีเชื่อว่า ตลาดมีเดียแท็บเล็ตจะเริ่มเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันถึงแม้ว่ามีเดียแท็บเล็ตจะตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในแง่ของการให้ “ประสบการณ์การใช้งาน” ที่เหนือกว่า แต่หากพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมแล้ว มีเดียแท็บเล็ตยังคงเป็นรองมินิโน๊ตบุ๊คอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นโอกาสที่มีเดียแท็บเล็ตจะเข้ามาแทนที่มินิโน็ตบุ๊คอย่างสมบูรณ์นั้นยังคงไม่เกิดขึ้น

4. ผู้ให้บริการด้านไอทีจะเปลี่ยนแปลงมาใช้กลยุทธ์แบบแบ่งแยกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ชัดเจนขึ้น
ผู้ให้บริการด้านไอทีจะพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการบริการของตนมากขึ้นในปี 2554 โดยนอกจากจะขายสินค้าและโซลูชั่นแล้ว การให้บริการที่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ จะได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้น

ไอดีซีเชื่อว่า ผู้ให้บริการด้านไอทีจะพยายามศึกษาถึงลักษณะเฉพาะตัวขององค์กรในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบงานบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด กลยุทธ์เช่นนี้จะทำให้สินค้าที่ เดิมไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการเฉพาะกลุ่ม สามารถดึงดูดผู้บริโภคในกลุ่มอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันได้มากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การที่ผู้ผลิตจับมือกับผู้วางระบบ (System Integrator) หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเพื่อที่จะออกแบบโซลูชั่นเฉพาะ ที่เหมาะสมที่สุดให้กับแต่ละองค์กรนั่นเอง

5. การดำเนินธุรกิจบนคลาวด์แพลตฟอร์มกำลังจะเกิดขึ้นจริง
ไอดีซีเชื่อว่าการให้บริการคลาวด์ประเภท Infrastructure-as-a-Services หรือ IaaS จะเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปี 2554 โดยบริการประเภทนี้จะถูกนำเสนอจากผู้ให้บริการด้านไอที (IT Services Providers -ITSP) หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ที่มีโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่แข็งแกร่งในปัจจุบัน ผู้ให้บริการในกลุ่มนี้จะมีการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างเสริมประสิทธิภาพภายใต้กรอบแนวคิดของเทคโนโลยีคลาวน์ เพื่อทำให้การบริการสามารถสนองตอบความต้องการทางธุรกิจ

บริการด้าน IaaS อาจจะเป็นไปได้ในหลายลักษณะ อาทิ การให้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในลักษณะคลาวด์ การให้บริการเครื่องแม่ข่ายแบบยืดหยุ่น และสามารถปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพของซีพียู ให้เหมาะสมกับแอพพลิเคชั่น หรือ ประเภทของงาน รวมถึงรูปแบบการให้บริการแอพพลิเคชั่น และ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกัน (Collaboration platforms) เป็นต้น

6. พัฒนาการของโซเชียลมีเดียจะทำให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านโซเชียลแพล็ทฟอร์มมากขึ้น
ถึงแม้ว่าองค์กร หรือ หน่วยงานทั้งภาครัฐ และ ภาคเอกชน ได้เริ่มใช้โซเชียลมีเดียเพื่อประโยชน์ทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอสินค้า และ บริการเก็บข้อมูล ตลอดจนตรวจสอบพฤติกรรมการบริโภคผ่านโลกออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2553 แล้วก็ตาม ในปี 2554 นั้น

ไอดีซีเชื่อว่าผู้ผลิตซอฟท์แวร์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจจะทำการผลิตเครื่องมือใหม่ๆ ที่เป็นโซลูชั่นในการทำเหมืองข้อความ (text mining) และ การวิเคราะห์ทางอารมณ์ (sentiment analysis) จากข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่มากมายในเว็บไซท์โซเชียล เน็ตเวิร์คต่างๆ อาทิ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ยูทูป เว็บบอร์ดหรือแม้กระทั่งบล็อกก็ตาม โดยแสดงผลเป็นข้อมูลแบบ real-time เช่น เป็นแผนภาพ หรือตารางแสดงผลผ่านหน้าเว็บ ไอดีซีเชื่อว่าการที่องค์กรณ์ต่างๆ ปรับมาใช้ประโยชน์จากโซเชียล แพล็ทฟอร์มเหล่านี้ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลจากโลกออนไลน์มากขึ้นตามไปด้วย

7. ระบบปฏิบัติการบนมือถือ – การออกแบบแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ สามารถประยุกต์ใช้ได้กับหลาย ๆ แพลตฟอร์ม
การใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทโฟนนั้น ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของผู้คนแล้ว และล่าสุดนั้น อัตราการเติบโตของสมาร์ทโฟนในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่สูงมาก ในปี 2553 ตลาดสมาร์ทโฟนประเภทเน้นการใช้งานด้านข้อมูลเป็นหลัก (Data centric) มีอัตราการเติบโตเกือบถึง 100% จากปี 2552

ในปี 2554 ไอดีซี คาดว่า อุปกรณ์ประเภทนี้จะมียอดจำหน่ายมากกว่า 2 ล้านเครื่อง มีอัตราการเติบโต 30% จากปี 2553. ในปัจจุบัน ตลาดนี้มีระบบปฏิบัติการ ที่เป็นที่นิยมอยู่หลายยี่ห้อเช่น Symbian ของโนเกีย iOS ของแอปเปิ้ล Android ของกูเกิ้ล and BlackBerry ของรีเสิรช์ อิน โมชั่น เป็นต้น

ไอดีซีคาดว่า จากการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ระบบปฏิบัติการเหล่านี้ จะยังคงมีอัตราการเติบโตสูงในปี 2554 ไอดีซีเชื่อว่า ยังมีโอกาสอย่างมากสำหรับนักพัฒนาที่จะออกแบบแอพพลิเคชั่นใด ๆ ก็ได้บนแพลตฟอร์มเหล่านี้

โดยแนวโน้มของการพัฒนาจะเน้นไปที่ data centric สมาร์ทโฟนเป็นหลัก สิ่งนี้กำลังแสดงให้เห็นว่า มันไม่มีความสำคัญเลยว่าแพลตฟอร์มจะเป็นแบบเปิดหรือแบบปิด แต่ แอพพลิเคชั่นนั้น เป็นสิ่งจำเป็น และ ยังมีความต้องการใช้งานเป็นอย่างมาก สำหรับอุปกรณ์ประเภท data centric นี้

8. การผสมผสานที่เกิดขึ้นจากโซลูชั่นด้านระบบพื้นฐานผลักดันให้เกิดการพัฒนาช่องทางการให้บริการ
โซลูชั่นที่รวมเอาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Systems Infrastructure) เข้ากับฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์ด้านสตอเรจ พร้อมด้วยระบบปกป้องข้อมูลนั้น มักจะได้รับความนิยมในองค์กรขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อันเนื่องมาจากโซลูชั่นประเภทนี้ ถูกมองว่าคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ต้องลงทุน

ไอดีซีเชื่อว่าในปี 2554 เราจะได้เห็นกลยุทธ์ด้านสินค้าและราคาแบบใหม่ๆ ที่ผู้ผลิตระบบโครง สร้างพื้นฐาน สตอเรจ ระบบปกป้องข้อมูล และ ผู้ให้บริการนำเสนอเป็นโซลูชั่นออกมาสู่ตลาดมากขึ้น ตลาดซอฟท์แวร์ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ที่เคยเติบโต 10.1% ในปี 2553 จะยังคงได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะเติบโต 13.5% ในปีนี้

โดยแนวคิดเรื่องเวอร์ชวลไลเซชั่นจะได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีเวอร์ชวลไลเซชั่นจะยิ่งทำให้ฮาร์ดแวร์ต่างๆ เหล่านี้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างทีประสิทธิภาพมากขึ้นและยังมีส่วนช่วยให้การปรับเปลี่ยนแพล็ทฟอร์มระบบโครงสร้างพื้นฐานทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

9. ผู้บริโภคจะหันมาซื้อซอฟท์แวร์แอนตี้ไวรัสที่ถูกกฏหมายมากขึ้น
ไอดีซีคาดว่าผู้บริโภคจะเพิ่มปริมาณการซื้อซอฟท์แวร์แอนตี้ไวรัสที่ถูกกฏหมายมากขึ้น ถึงแม้ว่ายังคงมีซอฟท์แวร์ผิดกฏหมายอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมากก็ตาม ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องของผู้ผลิต โดยมีการสร้างสรรค์กลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาสนใจซอฟท์แวร์แอนตี้ไวรัสแบบถูกกฏหมายมากขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการที่ผู้ผลิตอย่างแคสเปอร์สกี้ บิทดีเฟนเดอร์ และนอร์ตัน ล้วนแล้วแต่ใช้พื้นที่สื่อ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าประเภทนี้มากขึ้น รวมไปจนถึงลงทุนพัฒนาบริการหลังการขายด้วย ไอดีซีเชื่อว่าในปี 2554 เม็ดเงินการใช้จ่ายเพื่อซื้อซอฟท์แวร์แอนตี้ไวรัสจะเพิ่มขึ้นราว 13% ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าซอฟท์แวร์ด้านระบบปกป้องข้อมูลด้านอื่นๆ นั้นจะเพิ่มขึ้น 11.7%

10. ความต้องการด้านข้อมูล (Data) ของโทรศัพท์มือถือกระตุ้นผู้ให้บริการคิดบริการใหม่ๆ ได้ตรงกับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคมากขึ้น

ความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายจะยังคงมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในปี 2554 นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความแพร่หลายของสมาร์ทโฟนและโทรศัพท์มือถือแบบต่างๆ ทั้งในกลุ่มผู้บริโภคส่วนบุคคลและภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ การแช็ทผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ หรือ แม้กระทั่งการใช้โซเชียลเน็ทเวิร์ค

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผลักดันให้ผู้ให้บริการต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของ data package โดยไอดีซีเชื่อว่าสัดส่วนของแพ็คเกจแบบคิดตามปริมาณการใช้งาน (volume-based) จะมีปริมาณมากขึ้นเมื่อเทียบกับแพ็คเกจแบบคิดตามระยะเวลาการใช้งาน (time-based) ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการการเชื่อมต่อแบบตลอดเวลาของผู้ใช้สมาร์ทโฟนนั่นเอง