เนื้อหาวันที่ : 2011-01-31 16:19:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2511 views

ทิศทางการลงทุนในประเทศกับมิติใหม่ของเศรษฐกิจไทย

การลงทุนภายในประเทศมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว อันเนื่องมาจากปัจจัยความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นบวกกับสถานการณ์การเมืองเริ่มคลี่คลาย คาดแนวโน้มการลงทุนรวมปี 2554 จะขยายตัวได้ที่ 8.7%

แนวโน้มและทิศทางการลงทุนในประเทศกับมิติใหม่ของเศรษฐกิจไทย
ในปี 25541

บทสรุปผู้บริหาร
- การลงทุนภายในประเทศมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีสัดส่วนร้อยละ 20.5 ของ GDP โดยพบว่าการลงทุนภายในประเทศในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 ขยายตัวถึงร้อยละ 10.4 ต่อปี

ทั้งนี้ การลงทุนภายในประเทศที่ฟื้นตัวมาจากปัจจัยความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 สามารถขยายตัวได้สูงที่ร้อยละ 9.3 ต่อปีและทั้งปี 2553 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 7.8 ต่อปี

- แนวโน้มสถานการณ์การลงทุนรวมในปี 2554 คาดว่า การลงทุนรวมจะขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2553 ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.3 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 - 4.5 ต่อปี

- ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำคิดเป็นเพียงร้อยละ 20.0 ของ GDP เมื่อเทียบกับช่วงเกิดวิกฤตปี 2540 ที่สูงกว่าระดับร้อยละ 40.0 ของ GDP ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนรวมของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณของภาครัฐ

ประเทศไทยควรต้องให้ความสำคัญกับ 1) การลงทุนภาครัฐ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายของภาครัฐเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมลงทุน ผ่านการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน (Infrastructure Fund, Public Private Partnership: PPP) และ 2) การลงทุนภาคเอกชน โดยการเน้นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขัน (Comparative Advantage) เช่น (1)อุตสาหกรรมอาหาร (Foods) (2) อุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion) (3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism) (4) อุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) และ (5) อุตสาหกรรมซอฟแวร์ (Software) เป็นต้น

การลงทุนรวมในประเทศมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย โดยพบว่าการลงทุนรวมในประเทศในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 ขยายตัวถึงร้อยละ 10.4 ต่อปี ทั้งนี้ การลงทุนรวมที่ฟื้นตัวมาจากปัจจัยความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553ขยายตัวร้อยละ 9.3 ต่อปี

ภาพที่ 1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ของไทย ปี 2551-2553

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

การลงทุนรวมในประเทศมีสัดส่วนร้อยละ 20.5 ของ GDP โดยการลงทุนรวมในประเทศสามารถแบ่งออกเป็น 1) การลงทุนภาคเอกชน มีสัดส่วนร้อยละ 14.9 ของ GDP ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการลงทุนภายในประเทศ โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 ขยายตัวถึงร้อยละ 15.4 ต่อปี โดยแบ่งออกเป็น (1) การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 16.7 ต่อปี และ (2) การลงทุนในหมวดก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 11.0 ต่อปี และ 2) การลงทุนภาครัฐ มีสัดส่วนร้อยละ 5.6 ของ GDP

โดยพบว่าในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 หดตัวร้อยละ -1.9 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากงบลงทุนที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2553 หดตัวลงอย่างมากประกอบกับการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจในไตรมาสที่ 3 มีการเบิกจ่ายได้ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุทกภัยจากวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ทำให้การเบิกจ่ายชะลอลง

ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐ แบ่งออกเป็น (1) การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่หดตัวร้อยละ -12.8 ต่อปี และ (2) การลงทุนในหมวดก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้คาดว่าในปี 2553 การลงทุนรวมในประเทศจะขยายตัวได้ร้อยละ 11.1 ต่อปี โดยแบ่งออกเป็นการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวร้อยละ 15.1 ต่อปี และการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปีตามลำดับ

ตารางที่ 1 การลงทุนรวมในประเทศ

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ทั้งนี้ แนวโน้มการลงทุนรวมในประเทศสำหรับปี 2554 คาดว่าการลงทุนรวมจะขยายตัวร้อยละ 8.7 ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.3 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2553 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) แนวโน้มอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

(2) อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกที่อยู่ในระดับสูงตั้งแต่ปี 2553 เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ที่คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และ (3) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้นจากการแก้ไขปัญหาในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งช่วยทำให้บรรยากาศการลงทุนภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น

2) การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2554 ที่มีวงเงินสูงถึง 344,495 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนได้จำนวน 248,036 ล้านบาท (หรือคิดเป็นร้อยละ 72.0 ของกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุนของปีงบประมาณ 2554) สูงกว่ารายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายได้จำนวน 172,380 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2553 รวมทั้งรายจ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 64,967 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2554 โดยมีช่วงคาดการณ์จำนวน 51,936 ถึง 77,998 ล้านบาท ชะลอลงจากปีงบประมาณก่อนหน้า

เนื่องจากฐานการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในปีงบประมาณ 2553 สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 219,901 ล้านบาท ซึ่งการขยายตัวของการลงทุนรวมดังกล่าว ทำให้คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 - 5.0 ต่อปี

ในอนาคตการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนจะมีความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตของประเทศ ซึ่งการลงทุนภาครัฐจะประกอบด้วยเงินลงทุนของรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีให้กับภาคเอกชน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการผลิต(Productivity) โดยเน้นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขัน (Comparative Advantage) มากกว่าประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้ การลงทุนภายในประเทศในช่วงตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ เพียงร้อยละ 20.0 ของ GDP เมื่อเทียบกับช่วงเกิดวิกฤตปี 2540 ที่สูงกว่าระดับร้อยละ 40.0 ของ GDP โดยพบว่าเป็นผลมาจากการลดลงของการลงทุนของภาครัฐในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นสำคัญ เนื่องจากภาระหนี้ของประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการแก้ไขปัญหาภาคการเงิน

ภาพที่ 2 สัดส่วนการลงทุนภายในประเทศต่อ GDP

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คำนวณโดย สศค.

ทั้งนี้ พบว่าในช่วงปี 2546-2551 การลงทุนภาครัฐมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.7 ของ GDP ลดลงต่อเนื่องเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 (ปี 2535-2540) และช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2541-2545 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 9.2 ของ GDP และ 8.4 ของ GDP ตามลำดับ ซึ่งทำให้โครงสร้างพื้นฐานของไทยไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ภาพที่ 3 การลงทุนรวมของไทย

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

การลงทุนในระดับที่ต่ำในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของไทยในปัจจุบันเป็นข้อจำกัดของการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโดยสถาบันต่างๆ เช่น International Institute for Management Development (IMD) ในปี 2553 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 26 จาก 58 ประเทศซึ่งจุดอ่อนสำคัญของประเทศไทยจากผลการศึกษาของ IMD คือ โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และระบบโลจิติกส์ (Logistics) ที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

โดย IMD ได้จัดอันดับทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทยอยู่อันดับที่ 42 ในปัจจุบัน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และเวียดนาม มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ทำให้ระบบสาธารณูปโภคของไทยด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเชิงเปรียบเทียบ

สำหรับการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ กับประเทศอื่นๆ พบว่า ประเทศไทยมีขีดความสามารถด้านสาธารณูปโภคอยู่ในอันดับที่ 29 ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอยู่ในอันดับที่ 36 ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 40 ด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 47 และด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอยู่ในอันดับที่ 50ตามลำดับ

ตารางที่ 2 อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ที่มา: IMD World Competitiveness Yearbook 2

ดังนั้น ในระยะต่อไป การส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศควรให้ความสำคัญทั้งการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน ดังนี้

(1) การลงทุนภาครัฐ รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่มีวงเงินลงทุนกว่า 1.30 ล้านล้านบาท สำหรับในช่วงปี 2553 – 2555 ที่จะเป็นการลงทุนในด้านคมนาคม ชลประทาน โทรคมนาคม พลังงาน เป็นหลัก

ตารางที่ 3 ภาพรวมการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

ที่มา: สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง

นอกจากภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนโดยตรงแล้ว ภาครัฐยังสามารถใช้นโยบายและมาตรการเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ผ่านการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน (Infrastructure Fund, Public Private Partnership: PPP) เพื่อเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการในการให้บริการสาธารณะร่วมกับรัฐบาล

ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างทางเลือกทางการทำงานให้มากขึ้น และเป็นการขยายการเข้าถึงบริการของรัฐกับภาคประชาชน ในขณะที่จะเป็นการลดข้อจำกัดด้านงบประมาณการลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการก่อสร้างระบบรถไฟรางคู่และระบบรถไฟความเร็วสูงจำนวน 7 แสนล้านบาท

โดยแนวทางการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงจะประกอบด้วย 4 เส้นทางคือ (1) กรุงเทพ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร (2) กรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กิโลเมตร (3) กรุงเทพ-ระยองระยะทาง 250 กิโลเมตร และ (4) กรุงเทพ-ปาดังเบซา ระยะทาง 985 กิโลเมตร เป็นต้น ซึ่งการมีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพถือเป็นหัวใจสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการค้า การคมนาคม รวมไปถึงการสื่อสาร

(2) การลงทุนภาคเอกชน ภาคเอกชนควรเน้นการพัฒนาในส่วนของภาคการผลิตที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็งอยู่ โดยให้ความสำคัญกับการการลงทุนและการวิจัยและการพัฒนา (Research & Development) ซึ่งจากผลการศึกษาของศาสตราจารย์ Michael E. Porter จากมหาวิทยาลัย Harvard Business School ที่ได้ทำไว้เมื่อปี พ.ศ.2546 ที่ได้ประเมินอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีจุดแข็งและได้รับการส่งเสริมการลงทุน เช่น

- อุตสาหกรรมอาหาร (Foods) เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่มีวัตถุดิบในประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งภาครัฐควรให้การสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก และมีนโยบายสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

- อุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion) ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของกลุ่มสิ่งทอ เครื่องแต่งกายเครื่องประดับอัญมณี และผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ซึ่งภาครัฐควรให้การสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต เนื่องจากศักยภาพการผลิตของฝีมือแรงงานงานของไทยมีคุณภาพ และมีค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง


- อุตสาหกรรมท่องเที่ยว(Tourism) ภาครัฐควรให้การสนับสนุนส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวเนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประกอบกับมีภูมิประเทศที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปี และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค

- อุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์และเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค และส่งเสริมนวัตกรรมการผลิตให้มีประสิทธิภาพ

- อุตสาหกรรมซอฟแวร์ (Software) สิ่งที่ภาครัฐต้องส่งเสริมอย่างแรกในการพัฒนาซอฟแวร์ คือการส่งเสริมศักยภาพของบุคคลกรในประเทศให้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยี และพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นและส่งผลให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย มีการเติบโตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น

- สนับสนุนการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) จากการที่รัฐบาลได้มีการเตรียมการลงทุนในโครงการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งภาย 2555 ที่มีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวมีส่วนช่วยขับเคลื่อนในเรื่อง Creative Economy นี้ โดยคาดว่าภาคธุรกิจไทย คนไทยจะได้มีโอกาสนำเอาความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตไปได้อย่างมากในอนาคต

ซึ่งการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป เพราะฉะนั้นแนวคิดในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะสอดคล้องอย่างยิ่งกับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องอย่างยิ่งกับเรื่องของเศรษฐกิจที่เป็นการพัฒนาบนความยั่งยืน

ดังนั้น การลงทุนของภาครัฐต้องเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนให้เข้มแข็ง ในขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนต้องเน้นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพ

ทั้งนี้ ทิศทางการลงทุนในอนาคตจำเป็นต้องได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนในส่วนของอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีจุดแข็งและได้รับการส่งเสริมการลงทุน เช่น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น ที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้น

และแนวโน้มทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนในการนำเข้าวัตถุดิบมาใช้ในการลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และการส่งเสริมการลงทุนไทยจากภาครัฐ

ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในขณะที่การลงทุนภาครัฐ รัฐบาลได้มีโครงการลงทุนที่สำคัญโดยการมุ่งเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Physical Infrastructure) โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Mass Transit)

รวมถึงมาตรการการส่งเสริมการลงทุนในส่วนของมาตรการทางการเงิน และมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อการเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจด้านภาษีให้กับภาคเอกชนต่างชาติ เพื่อเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทยหรือเรียกว่า Regional Operating Headquarters: ROH เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคในการดึงดูดภาคเอกชนต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภายในประเทศในระยะต่อไปยังคงมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ (1) ปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังมีอัตราการว่างงานสูงกว่าร้อยละ 9.4

ในขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ยังคงลดลงในบางพื้นที่ ทำให้รายได้และการบริโภคของภาคเอกชนสหรัฐยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สำหรับยุโรปยังคงประสบปัญหาหนี้สาธารณะ กระทบต่อความเชื่อมั่นในค่าเงินสกุลยูโร และญี่ปุ่นยังคงประสบภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอตัว และแนวโน้มค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นกระทบต่อการส่งออก

(2) ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจเอเชีย พร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯผ่าน Quantitative Easing 2 (QE2) วงเงินกว่า 600 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทำให้มีสภาพคล่องส่วนเกินและเกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายมาสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ค่าเงินของภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น และทำให้ระดับราคาสินทรัพย์ (Asset Price) ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุน

(3) สถานการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งในสังคมไทยได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายและการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ต่ำมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

(4) การขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม แม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

แต่ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ทำให้โอกาสการขยายตัวของธุรกิจลดลงตามไปด้วย และ (5) แรงกดดันจากเงินเฟ้อ โดยแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อมาจากราคาพลังงาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ อันเป็นผลมาผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก

ประกอบกับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มเงินเดือนของข้าราชการ พนักงานเอกชน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้ แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อจะนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตที่จะมีผลต่อการใช้จ่ายภายในประเทศต่อไป

ดังนั้น การเพิ่มศักยภาพการลงทุนภายในประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้ดีนั้นจำเป็นต้องมีการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐต้องเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนให้เข้มแข็ง

ในขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนต้องเน้นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งในการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ในอนาคตอย่างยั่งยืน

 


 

1 ผู้เขียน:นายวรพล คหัฏฐา ส่วนการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจมหภาค ขอขอบคุณ นางณัฐยา อัชฌากรลักษณ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ สำหรับคำแนะนำ


ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง