เนื้อหาวันที่ : 2011-01-31 12:12:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1176 views

สศค. ปลื้ม ศก.ไทยปี 53 จบสวย ขยายตัวดีเกินคาด

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คุยโวเศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2553 และไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ขยายตัวดีเกินคาด รับอานิสงส์การส่งออกโตต่อเนื่อง

           สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คุยโวเศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2553 และไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ขยายตัวดีเกินคาด รับอานิสงส์การส่งออกโตต่อเนื่อง

          “เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2553 และไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตได้ดี นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้”

          นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2553 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตได้ดี สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวร้อยละ 10.4 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคที่ขยายตัวร้อยละ 15.9

นอกจากนี้ การส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.8 โดยเฉพาะในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตร ที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเช่นกันโดยขยายตัวร้อยละ 7.0”

          นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2553 ขยายตัวสูงกว่าที่คาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 สามารถเติบโตได้ดีกว่าที่ประมาณการไว้ โดยได้รับแรงส่งทั้งจากการบริโภคภาคเอกชนและจากการส่งออก”

          ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวสรุปว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 บ่งชี้ถึงทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศและการส่งออกที่ ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 สามารถขยายตัวได้อย่างน้อยตามที่คาดการณ์ไว้เดิมร้อยละ 7.8 เแม้จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทและสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ที่ผ่านมา”

          รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2553 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2553

          เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2553 ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตได้ดี นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้

          1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และดีกว่าที่คาดการณ์ สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนธันวาคม 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 8.2 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.0 สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 15.9 ทำให้ทั้งไตรมาสขยายตัวร้อยละ 16.4 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 20.9

ในขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนปรับตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนธันวาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 28.2 ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 36.0 เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 9.5 ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 11.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงปรับตัวดีขึ้น ตามราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนธันวาคม 2553 อยู่ที่ระดับ 71.9 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มคลี่คลาย และความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล

          2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันแม้จะมีสัญญาณแผ่วลงเล็กน้อยจากช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนธันวาคม 2553 ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 9.9 ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 13.6 เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 29.9 และ 32.1 ตามลำดับ

ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2553 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 80.9 ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 78.0 สะท้อนถึงธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

          3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 พบว่า บทบาทนโยบายการคลังยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง สะท้อนได้จากรายจ่ายรัฐบาล โดยการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนธันวาคม 2553 มีจำนวน 167.8 พันล้านบาท

ทำให้ผลการ เบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553-ธันวาคม 2553) เท่ากับ 598.4 พันล้านบาท แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 จำนวน 553.3 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 26.7 ของกรอบวงเงินงบประมาณ 2,070.0 พันล้านบาท

(2) รายจ่ายเหลื่อมปีจำนวน 45.0 พันล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในเดือนธันวาคม 2553 เท่ากับ 10.7 พันล้านบาท ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เท่ากับ 257.1 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73.5 ของกรอบวงเงินลงทุน 350 พันล้านบาท

ทั้งนี้ สำหรับรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) ในเดือนธันวาคม 2553 เท่ากับ 119.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.7 ทำให้รายได้รัฐบาลในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2554 จัดเก็บได้ 387.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.1 ผลมาจากรายได้จัดเก็บจาก ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตน้ำมันและรถยนต์ ที่จัดเก็บได้ในระดับสูง

          4. การส่งออกในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนธันวาคม 2553 อยู่ที่ 17.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ขยายตัวร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทั้งไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 52.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 20.8

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ดีมาจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 และราคาสินค้าส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 โดยเป็นการขยายตัวของแทบทุกหมวดสินค้าและทุกตลาด ยกเว้นการส่งออกไปยังออสเตรเลียและมาเลเซียที่หดตัวลง

สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากการปรับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 16.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 11.5 ส่งผลให้ทั้งไตรมาสที่ 4 มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 48.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 20.1 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 30.5

ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องมาจากปริมาณการนำเข้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.7 ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าขยายตัวร้อยละ 6.5 สำหรับดุลการค้าในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 เกินดุลต่อเนื่องที่ 1.3 และ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

          5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 พบว่า การผลิตในภาคการเกษตรขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน สำหรับภาคบริการจากการท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงเล็กน้อย

โดยเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนธันวาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยเฉพาะจากผลผลิตข้าวนาปีและยางพาราที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 หดตัวเพียงร้อยละ -2.9 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.6 สำหรับราคาสินค้าเกษตรในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 25.8 ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวได้ดีโดยขยายตัวร้อยละ 16.6

สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการจากการท่องเที่ยวต่างชาติ เดือนธันวาคม 2553 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์จำนวน 1.8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.0 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 4.6 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคบริการจากการท่องเที่ยว

ในขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนธันวาคม 2553 หดตัวที่ร้อยละ -2.5 ทำให้ทั้งไตรมาสที่ 4 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.9 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.8

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2553 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 109.7 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 99.7 จุด โดยเป็นการปรับตัวกลับเข้าสู่ระดับ 100 จุด บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง 

          6. เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2553 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาในหมวดผักและผลไม้ และราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 1.4

สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2553 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 3.9 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553 อยู่ที่ร้อยละ 41.4 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0

สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 อยู่ในระดับ 172.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.9 เท่า