1. สศอ. ปรับเพิ่ม GDP ภาคอุตสาหกรรม ชี้เศรษฐกิจโลกปัจจัยบวก
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ปรับเพิ่มประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 54 เป็นร้อยละ 5.5 - 6.5 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 เพราะเห็นว่ามีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกซึ่งเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น
ส่งผลให้การลงทุนด้านการผลิตขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เริ่มดีขึ้น โดยคาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 54 นี้จะขยายตัวร้อยละ 6.0 - 8.0 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 64 - 66 ของกำลังการผลิตรวม
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยปี 54 คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกทั้งภายในและภายนอก โดยการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนตลอดจนการส่งออกที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจ G3 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรกระจายความเสี่ยงด้วยการกระจายตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าหลักในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าปี 54 การบริโภคและลงทุนภาคเอกชนของไทยจะขยายตัวร้อยละ 4.9 และ 11.3 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.3 (ประมาณการ ณ ธ.ค. 53)
2.พาณิชย์จ่อขึ้นราคาน้ำมันปาล์มขวดหลังปาล์มสดพุ่งเท่าตัว
- ก.พาณิชย์เผยว่าแนวโน้มราคาผลปาล์มที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้ปัญหาน้ำมันปาล์มบริโภคขาดแคลนและราคาแพงเพิ่มขึ้นไปอีก รวมทั้งอาจต้องมีการขอปรับขึ้นราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดรอบใหม่ จากที่ได้รับอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาไปแล้ว 9 บาท/ขวด เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค.
โดยผลปาล์มสดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 7 บาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 10 -15 บาท ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันกึ่งบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 50 – 60 บาท สูงเกินกว่าเพดานราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดของ ก.พาณิชย์ที่ลิตรละ 47 บาท ซึ่งอาจไม่สามารถควบคุมราคาได้และอาจทะให้ราคาอาจขึ้นเป็นลิตรละ 50 บาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า การขาดแคลนผลปาล์มสดที่เกิดจากปัญหาภัยแล้งในช่วงกลางปีที่ผ่านมาและปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี ทำให้ไม่สามารถนำผลผลิตออกจากพื้นที่ได้ ขณะที่ในปี 53 ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มอยู่ที่ 1.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีความต้องการบริโภคอยู่ที่ 1.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.2
ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดเครื่องประกอบอาหารในเดือน ม.ค. - ก.พ. 54 อาจจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือน ธ.ค. 53 ที่อยู่ในระดับสูงที่ระดับ 123.06 และอาจส่งผลให้ราคาสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปาล์มมีการปรับตัวขึ้นตาม ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 54 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 ถึง 4.5 ต่อปี (ประมาณการ ณ ธ.ค. 53)
3.เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 ต่อปี ในไตรมาสสุดท้ายของปี 53
- ทางการสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขเบื้องต้นของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 53 ที่ร้อยละ 3.2 โดยกล่าวว่าอาจขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.1 หากภาคธุรกิจไม่ทำการชะลอการผลิตสินค้าคงคลัง ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 27 ส่งผลให้การขยายตัวทั้งปี 53 ขยายตัวได้ร้อยละ 2.9 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 48
โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักของการขยายตัวในไตรมาส 4 คือ การบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วน 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.4 ซึ่งมีส่วนทำให้ GDP ขยายตัว (contribution to GDP) ได้ถึงร้อยละ 3.04 และการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น ทำให้ขาดดุลการค้าลดลง อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าแนวโน้มการส่งออกอาจไม่ต่อเนื่องนานนัก ดังนั้นการบริโภคในประเทศจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญกว่า
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 53 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 53) จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนในปี 54 คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี หรือในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 – 3.0 ต่อปี ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าการจ้างงานของสหรัฐฯ จะยังเป็นปัญหาสำคัญ และจะยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง