เนื้อหาวันที่ : 2011-01-31 11:24:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 841 views

อุตฯ สำนักพิมพ์ยิ้ม ปี 53 ยอดแตะสองหมื่นล้าน

อุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ปี 2553 ยอดแตะ 20,000 ล้าน คาดปี 2554 โตต่อเนื่องจากมาตรการลดหย่อนภาษีและนโยบายรัฐ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แนะ ถึงเวลาต้องมี พรบ.ส่งเสริมการอ่าน

นางริสรวล อร่ามเจริญ
นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

          อุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ปี 2553 ยอดแตะ 20,000 ล้าน คาดปี 2554 โตต่อเนื่องจากมาตรการลดหย่อนภาษีและนโยบายรัฐ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แนะ ถึงเวลาต้องมี พรบ.ส่งเสริมการอ่าน

          สมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย แถลงข่าว “อุตสาหกรรมสำนักพิมพ์และการอ่านในสังคมไทย” เผยอัตราเติบโตของอุตสาหกรรมสำนักพิมพ์โดยรวมคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000-21,000 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะโตต่อเนื่องเนื่องจาก ครม.มีมติเห็นชอบเรื่องภาษี และแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ

          นางริสรวล อร่ามเจริญ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยภาพรวมตลาดธุรกิจหนังสือในปี 2553 พร้อมทั้งคาดการณ์ทิศทางธุรกิจหนังสือและแนวโน้มการเติบโตในปี 2554 ว่า สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้สำรวจและวิเคราะห์อุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ในปี 2553 พบว่า มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 20,000-21,000 ล้านบาท หรือมีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 5-7.5 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 ซึ่งมีมูลค่าตลาด 19,200 ล้านบาท

ทั้งนี้เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น รวมถึงได้รับแรงกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐที่ได้กำหนดนโยบายให้ปี 2552-2561 เป็น “ทศวรรษแห่งการอ่านแห่งชาติ” และได้จัดสรรงบประมาณมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ “ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง” เพื่อจัดซื้อหนังสือและสื่อการเรียนการสอนเข้าห้องสมุดตามนโยบาย 3 ดี คือ หนังสือดี ห้องสมุดดี และบรรณารักษ์ดี รวมทั้งสนับสนุนการศึกษานอกระบบ

          นางริสรวลยังได้กล่าวถึงรายละเอียดในการเติบโตของอุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ว่า กลุ่มสำนักพิมพ์ที่เป็นผู้นำการตลาดซึ่งมีจำนวนเพียง 8 ราย มีการขยายตัวของรายได้สูงสุดคือ 17.44% ในขณะที่กลุ่มสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก (320 ราย) มีอัตราการขยายตัวลดลง 20.88% และเป็นการขยายตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551

ดังนั้น ทางสมาคมฯ อาจกำหนดนโยบายให้การสนับสนุนกลุ่มสำนักพิมพ์ขนาดเล็กในด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากและง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสความอยู่รอดของผู้ประกอบการในกลุ่มสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก โดยเฉพาะในด้านของแหล่งเงินทุน ซึ่งต้องนำเสนอให้ภาครัฐกำหนดนโยบายสนับสนุนให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในธุรกิจกลุ่มสำนักพิมพ์ เพื่อเสริมสภาพคล่อง และเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาช่องทางในการกระจายสินค้า

          อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการครอบครองตลาดเฉลี่ยต่อรายเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มสำนักพิมพ์ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากจำนวนผู้ประกอบการมีมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการทั้งหลายจึงต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มยอดขายและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของตน

          ด้านภาพรวมธุรกิจหนังสือในปี 2554 นางริสรวลกล่าวว่า “สมาคมฯ คาดว่าปีนี้ อัตราเติบโตของธุรกิจหนังสือจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยประมาณการว่ามีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 21,000-22,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลตื่นตัวในการดำเนินการส่งเสริมการอ่านมากขึ้น มีนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการอ่านอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนด “ทศวรรษการอ่านแห่งชาติ”

การกำหนดให้การส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ การกำหนดเป้าหมายว่าในปี 2555 จะเพิ่มค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือของคนไทยเป็นเท่าตัวจากค่าเฉลี่ยในปี 2552 ไปจนถึงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการทางภาษีที่เกี่ยวกับการลดหย่อนค่าใช้จ่ายจากการบริจาคหนังสือเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการอ่าน อันมีสาระสำคัญดังนี้

          1. บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อบริจาคให้แก่สถานศึกษาของราชการและเอกชน สามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ (กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) และหรือเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาฯ แล้วต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อสาธารณกุศลหรือเพื่อสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา (กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล)

          2. นิติบุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือและสื่อเพื่อส่งเสริมการอ่านให้ห้องสมุดขององค์กรตนเองในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในคำนวณภาษีได้ 2 เท่า ของที่จ่ายจริงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท และสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือและสื่อเพื่อบริจาคให้แก่ห้องสมุดของเอกชนที่ไม่เก็บค่าใช้จ่ายมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้

          นางริสรวลได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลของมาตรการทางภาษีว่า “จะส่งผลทางบวกต่อแหล่งเรียนรู้หรือห้องสมุดที่จะมีหนังสือมากขึ้น แม้จะมีข้อคิดเห็นในความห่วงใยว่า การส่งเสริมนโยบายบริจาคจะทำให้มีหนังสือที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบห้องสมุด ซึ่งเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าองค์กรธุรกิจภาคเอกชนจำนวนมากได้เข้าไปมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม และจำนวนไม่น้อยที่ส่งเสริมการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เช่น การบริจาคเงินเพื่อจัดสร้างห้องสมุด บริจาคหนังสือ และสื่อการเรียนการสอนอันเป็นการช่วยให้โรงเรียนหรือแหล่งเรียนรู้ที่ขาดศักยภาพมีความสามารถสูงขึ้นในการให้บริการต่อชุมชน

แน่นอน ก็อาจมีบุคคลบางกลุ่มหรือบางองค์กรที่อาศัยนโยบายบริจาคเพื่อประโยชน์ส่วนตน ในเรื่องประโยชน์ของมาตรการทางภาษีจึงควรมองที่วัตถุประสงค์และเป้าหมายรวม และผู้รับต้องสร้างหลักการหรือหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบหนังสือบริจาคที่ได้รับบริจาค โดยให้ข้อมูลหนังสือที่ต้องการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และเมื่อชุมชนได้ประโยชน์สามารถพัฒนาตนเองจากการอ่านหนังสือในห้องสมุด ก็จะมาอ่านมากขึ้นใช้ห้องสมุดบ่อยขึ้น”

          จากการที่เทคโนโลยี e-Book ได้สร้างกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบันประกอบกับราคา e-Reader ที่มีแนวโน้มว่าจะถูกลงเรื่อยๆ ส่งผลให้ แนวโน้มอนาคตของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) ในประเทศไทย ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่จากการสอบถามของผู้เข้าชมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม - 31 ตุลาคม 2553 จำนวน 1,316 ราย ดังนี้ พบว่าผู้เข้าชมงานจำนวนเพียง 40 ราย หรือร้อยละ 3.0 จากผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ที่ชอบอ่านหนังสือจากอินเทอร์เน็ต หรือ e-Book และผู้เข้าชมงานจำนวนถึง 1,071 ราย หรือร้อยละ 81.4 จากผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ที่ยังไม่มี e-Reader

          “แม้จะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ทัศนคติของผู้อ่านไทยจะให้ความสนใจ e-Book มากขึ้นเพียงใด ผู้ผลิตเนื้อหา สำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหนังสือและอุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ โดยต้องหาทางออกให้กับประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ มาตรฐานการผลิต ไปจนถึงการกำหนดราคาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงหนังสือที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น และเป็นการเพิ่มจำนวนผู้อ่านหนังสือให้มากขึ้นในอนาคต” นางริสรวล กล่าวเสริม

          “การผลักดันให้ “การอ่านเป็นวัฒนธรรมของชาติไทย” จะประสบผลสำเร็จได้จริงนั้น ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนและต่อเนื่อง และถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมี พรบ. ส่งเสริมการอ่าน โดยให้มีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ พร้อมบุคลากรและงบประมาณ เพื่อให้การส่งเสริมการอ่านเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อีกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมกันสร้างเครือข่ายส่งเสริมการอ่านให้มากขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างทัศนคติการเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการอ่านให้เกิดขึ้น และสามารถพัฒนาอย่างเป็นระบบต่อไป”

          “ทั้งนี้ ปัจจัยที่ไม่อาจละเลยได้ คือ ปัจจัยด้านคุณภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมหนังสือ ที่ควรมีการอบรมและพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงในการเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมหนังสือ และรวมถึงควรให้มีการอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีผลในการช่วยส่งเสริมชุมชนและสังคมในระดับท้องที่ ให้มีความเข้าใจและทราบถึงความสำคัญของการอ่าน ตลอดจนอบรมวิธีการ และแนวคิดในการสนับสนุนให้ชุมชนของตนมีการดำเนินกิจกรรมด้านการอ่านอย่างต่อเนื่อง” นางริสรวลกล่าวสรุป