1. ต่างชาติสนใจลงทุนไทยเพิ่ม รัฐอัดมาตรการลดหย่อนภาษีจูงใจ
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้พบหารือกับนักลงทุนประเทศฝรั่งเศสชั้นนำ 16 แห่ง เช่น บริษัทผลิตเครื่องบินแอร์บัส บริษัทผลิตรถไฟฟ้า และบริษัทผลิตยางรถยนต์มิชลีน ซึ่งนักลงทุนหลายแห่งสนใจที่จะเข้ามาตั้งสำนักงานปฏิบัติงานภูมิภาคในไทย (ROH) และตั้งศูนย์กลางการจัดหาสินค้าเพื่อการผลิตระหว่างประเทศ (IPC) เนื่องจากมีมาตรการลดหย่อนภาษีสูง จูงใจมากที่สุดในภูมิภาคขณะนี้
- สศค.วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันภาครัฐมีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศโดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่นักลงทุนต่างชาติหลายประการ เช่น กรณีเป็น ROH จะจัดเก็บภาษีนิติบุคคลร้อยละ 10 กรณีเป็น IPC จะจัดเก็บภาษีนิติบุคคลร้อยละ 15 เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งจะมีส่วนช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
สนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนโดยรวม ทำให้เกิดการจ้างงานขึ้นในพื้นที่ รวมถึงเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆจากต่างประเทศ จึงเป็นอีกช่องทางที่ช่วยพัฒนาคุณภาพแรงงานไทยได้ ทั้งนี้ สศค.คาดว่าในปี 54 การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวได้สูงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 11.3
2. ส.อ.ท. คาด เศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 4.5
- อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8-7.9 โดยมีปัจจัยบวกสำคัญจากการส่งออกซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.7-12.0
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ปัญหาการว่างงานของสหรัฐ ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ที่หลายประเทศมีแนวโน้มใช้มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอาจทำให้ตลาดเงินตึงตัว ส่งผลต่อค่าเงินผันผวนค่าเงินซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออก
- สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค.53) จะขยายตัวร้อยละ 4.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0-5.0) ซึ่งได้รับแรงแรงส่งจากจากการจับจ่ายภายในประเทศที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 53 ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการที่จะมีผลในเดือน เม.ย. 54 และโครงการประชาวิวัฒน์ (วงเงิน 9,834 ล้านบาท) ที่มุ่งเน้นการเพิ่มอำนาจซื้อ ช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 52.3 ของ GDP
3. การขยายตัวเศรษฐกิจเกาหลีของไตรมาส 4 ของปี 53 ขยาตัวชะลอลง
- สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 4 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้ทั้งปี 53 GDP ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 8 ปีที่ร้อยละ 6.1 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจะขยายตัวร้อยละ 0.5 โดยเป็นผลมาการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกเป็นสำคัญ การขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐเกาหลีใต้ทำให้ธนาคารกลางได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
- สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้โดยรวมยังคงขยายตัวได้ดีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบ GDP จะพบว่าภาคการลงทุนเอกชน โดยเฉพาะภาคก่อสร้าง มีการปรับตัวลงค่อนข้างมาก
โดย หดตัวถึงร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และหดตัวร้อยละ -4.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้อาจชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งในช่วง มี.ค. 54 เพื่อลดแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาอาหารและราคาน้ำมันที่มีทิศทางสูงขึ้นจากภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง