สศช. ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 55 คาดเติบโตถึง 5% จีดีพีแตะ 11.63 ล้านล้านบาท มูลค่าการส่งออกอาจพุ่งถึง 2 แสนล้านบาท
สศช. ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 55 คาดเติบโตถึง 5% จีดีพีแตะ 11.63 ล้านล้านบาท มูลค่าการส่งออกอาจพุ่งถึง 2 แสนล้านบาท
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ปีคือ ปี 53-55 เพื่อประกอบการจัดทำงบประมาณปี 55 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 55 จะเติบโตร้อยละ 4-5 สูงกว่าปี 54 ที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 11.63 ล้านล้านบาท สูงกว่าปี 54 ที่คาดว่ามีจีดีพีที่ 10.77 ล้านล้านบาท มีรายได้ต่อหัว 5,619.40 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าปี 54 ที่คาดว่ามีรายได้ต่อหัว 5,404.6 ดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ สศช.ยังคาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 55 จะอยู่ที่ 236,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว ร้อยละ 12.1 สูงกว่าปี 54 ที่คาดว่ามีมูลค่า 211,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราเติบโตร้อยละ 11.7 ขณะที่คาดว่ามูลค่าการนำเข้าจะอยู่ที่ 227,400 ล้านดอลลาร์ เติบโตร้อยละ 14.3 สูงกว่าปี 54 ที่คาดว่ามีมูลค่านำเข้า 199,000 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโตร้อยละ 13.4 โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ 10,800 ล้านดอลลาร์ น้อยกว่าปี 54 ที่คาดว่าอยู่ที่ 12,000 ล้านดอลลาร์
รายงานข่าว กล่าวด้วยว่า สศช.ยังคาดการณ์ว่าการลงทุนโดยรวมในปี 55 จะเติบโตเพียงร้อยละ 3.9 น้อยกว่าปี 54 ที่คาดว่าจะพุ่งสูงถึงร้อยละ 8 ส่วนการบริโภคโดยรวมจะเติบโตแบบคงที่คือในระดับร้อยละ 4.1 ทั้งในปี 54 และปี 55 ส่วนอัตราเงินเฟ้อนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3-4 สูงกว่าปี 54 ที่คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 2.5-3.5
อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 55 ที่จำนวน 2.25 ล้านล้านบาท นั้นพบว่ารายจ่ายทุกรายการต่างเพิ่มสูงขึ้นจากปี 54 กว่าร้อยละ 10 โดยรายจ่ายประจำขั้นต่ำที่จำเป็น ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายบุคลากร ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่าทรัพย์สิน สูงขึ้น 72,636.2 ล้านบาท หรือสูงขึ้น ร้อยละ 9.4 โดยมีวงเงินรวม 8.42 แสนล้านบาท รายจ่ายตามนโยบาย
ซึ่งประกอบด้วยเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และรายจ่ายตามภารกิจยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ สูงขึ้น 1.07 แสนล้านบาท หรือสูงขึ้นร้อยละ 10.2 มีวงเงินรายจ่าย 1.16 ล้านล้านบาท
ขณะที่รายจ่ายชำระหนี้เงินกู้ สูงขึ้น 30,691.7 ล้านบาท หรือสูงขึ้นร้อยละ 14.2 โดยมีวงเงินรายจ่าย 2.47 แสนล้านบาท แยกเป็นรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 47,186 .4 ล้านบาท สูงขึ้น 14,631.8 ล้านบาท หรือสูงขึ้น ร้อยละ 44.9 รายจ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงขึ้นร้อยละ 8.7 โดยมีวงเงินรวม 2 แสนล้านบาท
ที่มา : สำนักข่าวไทย, เว็บไซต์รัฐบาลไทย