เนื้อหาวันที่ : 2011-01-26 09:24:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 784 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 25 ม.ค. 2554

1. หนี้สาธารณะต่อ GDP ในเดือน พ.ย. 53 อยู่ที่ร้อนละ 41.4

-   ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่าหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 พ.ย. 53 มีจำนวน 4.166 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 41.4 ของ GDP โดยเป็นหนี้รัฐบาลกู้โดยตรง 2.9 ล้านล้านบาท เป็นหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 1.06 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 0.17 ล้านล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 3.06 หมื่นล้านบาทซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนพบว่าหนี้สาธารณะลดลง 3.5หมื่นล้านบาท

-   สศค.วิเคราะห์ว่า การที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 41. 4 ซึ่งต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ของ GDP บ่งชี้ว่าเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในด้านภาคการคลังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกให้ภาครัฐสามารถดำเนินนโยบายการคลังได้อย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และยังสามารถรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ ในขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในด้านอื่นๆ เช่นอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน พบว่าอยู่ในระดับแข็งแกร่งเช่นกันที่ร้อยละ 3.3 และ 1.1 ในปี2553 ตามลำดับ
 
2. โตโยต้าแกร่งยังรั้งเบอร์ 1 ของโลก

-  โตโยต้า มอเตอร์ของญี่ปุ่น ยังคงครองแชมป์ค่ายรถยนต์เบอร์ 1 ของโลกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันในด้านยอดขาย แม้ว่าจะประสบปัญหากับวิกฤตการเรียกคืนอย่างต่อเนื่องมาในช่วง 2 ปีก่อน เอเอฟพี รายงานว่า ยอดขายประจำปี 2010 ของโตโยต้านั้นเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 8,418 ล้านคัน เฉือนเจนเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ค่ายรถยนต์อันดับ 1 จากฝั่งสหรัฐ สำหรับยอดขายโตโยต้ากรุ๊ป ทั้ง บริษัท ซึ่งรวมถึงบริษัทลูกต่าง ๆ เช่น ไดฮัทสุ มอเตอร์ส และฮีโน่มอเตอร์นั้น มียอดขายในญี่ปุ่นเพิ่ม 10% และมียอดขายในต่างประเทศเพิ่ม 7%
 
-  สศค.วิเคราะห์ว่า ปี 53 ถือว่าเป็นปีทองของอุตสาหกรรมยานยนต์ สะท้อนจาก ยอดขายรถยนต์นั่งในช่วง 11 เดืนอแรกปี 53 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 54.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวสูงเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 44.2

โดยมีสาเหตุหลักมาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้สำหรับการจักจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการเริ่มลงทุนเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคาสินค้าทางการเกษตรที่อยู่ในระดับสูงยังคงเอื้อต่อการจับจ่ายใช้สอยของเกษตรกรในชนบทอีกด้วย

3. อัตราเงินเฟ้อเวียดนามทะยานสูงขึ้น

-  สำนักข่าวฮานอย เวียดนามคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลักนับจากตรุษจีนเป็นต้นไป นับจากที่ดัชนีสินค้าผู้บริโภค (CPI) ในเดือน ม.ค.54 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 12.17 ต่อปี ส่งผลกระทบให้ทางการเวียดนามจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอภาวะเศรษฐกิจที่ร้อนแรงและลดแรงกดดันด้านการเงิน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเวียดนามผจญกับภาวะกดดันทางเศรษฐกิจทั้งด้านราคาเชื้อเพลิง ความสามารถของภาครัฐในการดำเนินนโยบายด้านการคลังและการขาดดุลทางการค้าและค่าเงินดองที่ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง

-  สศค.วิเคราะห์ว่า CPI ของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วดังกล่าวนั้น นอกจากจะสร้างแรงกดดันให้กับเวียดนามเองแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี สำหรับไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

เนื่องจากการค้าระหว่างไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการค้าและการลงทุนของไทยทั้งหมด และแม้ว่าเวียดนามจะเป็นคู่ค้าที่สำคัญลำดับที่ 9 ของไทย แต่มูลค่าการค้าระหว่างไทยและเวียดนามในช่วงที่ผ่านมาคิดเป็นสัดส่วนประมาณเพียงร้อยละ 2.0 ของมูลค่าการค้าของไทยทั้งหมด

ทั้งนี้ สินค้าที่เวียดนามนำเข้าจากไทยหลายรายการเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบที่จำเป็น โดยเฉพาะรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของเวียดนาม ดังนั้น เวียดนามจึงไม่น่าลดปริมาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบดังกล่าวจากไทย ดังเห็นได้จากการนำเข้าของสินค้าประเภทวัตถุดิบเหล่านี้ที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2552 แม้ว่าเวียดนามจะได้มีการปรับลดค่าเงินดองในช่วงดังกล่าว

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง