เนื้อหาวันที่ : 2011-01-21 10:09:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1121 views

ดัชนีเชื่อมั่น ธ.ค. 53 พุ่ง รับอานิสงส์ยอดขายปีใหม่หนุน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. 53 พุ่งทะลุ 100 ชี้ได้คำสั่งซื้อ - ยอดขายหนุน คาดปี 54 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

          สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค. 53 พุ่งทะลุ 100 ชี้ได้คำสั่งซื้อ - ยอดขายหนุน คาดปี 54 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

          นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนธันวาคม 2553 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,022 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 109.7 จากระดับ 99.7 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 เดือน ติดต่อกัน และดัชนีมีค่าเกิน 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอยู่ในระดับดี ค่าดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบของดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          การที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องนั้น ทั้งนี้เกิดจากความต้องการสินค้าและบริการที่เป็นแรงส่งต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับอยู่ในช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรยังส่งผลดีต่อเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สถานการณ์ทางการเมืองไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแม้ว่าจะมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในช่วงเดือนธันวาคม 2553 ก็ตาม อีกทั้งภาคการส่งออกยังคงขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคมอยู่ในระดับดี

          ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 115.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 113.6 ในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

          ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ ดัชนีความเชื่อมั่นของ อุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขนาดย่อม เดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 102.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับระดับ 92.5 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ซึ่งการผลิตของอุตสาหากรรมขนาดย่อมส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ

          สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร และอุตสาหกรรมก๊าซ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 112.4 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ
 
         อุตสาหกรรมขนาดกลาง เดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 108.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.7 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมสมุนไพร อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมการพิมพ์และการบรรจุภัณฑ์ หัตถอุตสาหกรรม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 116.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 115.0 ในเดือนพฤศจิกายน

          องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 120.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 110.4 ในเดือนพฤศจิกายน

          องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง อุตสาหกรรมเครื่องประดับ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 124.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 112.7 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน

          ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 111.4 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.6 ในเดือนพฤศจิกายน โดยมีองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ภาคการผลิตของภาคกลางในเดือนนี้ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาจากความต้องการสินค้าและบริการในช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังส่งผลดีต่อเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ(ยอดคำสั่งซื้อผ้าลูกไม้ จากประเทศจีน ญี่ปุ่นและยุโรปเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง(คำสั่งซื้อหนังแผ่นในประเทศเพิ่มขึ้นจากอุตสหกรรมเฟอร์นิเจอร์) อุตสาหกรรมรองเท้า) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ(ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่)

อุตสาหกรรมเหล็ก(เหล็กแผ่นเคลือบขึ้นรูป มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์(ยอดคำสั่งซื้อชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมสมุนไพร อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ หัตถอุตสาหกรรม

          ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 119.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 109.1 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 111.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.7 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในภาคเหนือยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ประกอบกับอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

          อย่างไรก็ตามปัญหาการปิดด่านแม่สอด – เมียววดี ทำให้การส่งสินค้าผ่านชายแดนดังกล่าวมีปริมาณลดลง สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ยอดขายเสื้อกันหนาวและผ้าห่มในประเทศเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศหนาว) อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ยอดคำสั่งซื้อหินอ่อนปูพื้นจากประเทศลาว เวียดนามเพิ่มขึ้น)

          ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.9 ปรับลดลงจากระดับ 118.7 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 108.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.7 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ขณะเดียวกันโรงงานน้ำตาลได้ทยอยเปิดหีบอ้อยผลผลิตฤดูกาล 2553/2554 เกษตรกรยังได้รับผลดีจากราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ข้าว อ้อย ยางพารา ที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปริมาณการค้าชายแดนยังขยายตัวต่อเนื่องทั้งการนำเข้าและส่งออก

          สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์(ยอดคำสั่งซื้อรถยนต์นั่งในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร(เครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 126.3 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ

          ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 118.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 108.1 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ในช่วงเทศกาล คริสมาสต์และปีใหม่ส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นในภาคการท่องเที่ยวและบริการ

          ขณะที่ภาคการส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี(ยอดขายเม็ดพลาสติกในประเทศและต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซียและญี่ปุ่น มีปริมาณเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 118.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 109.5 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          และภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 95.0 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 83.0 ในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตามค่าดัชนียังคงมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับทีไม่ดี องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ทั้งนี้ในเดือนธันวาคม ภาคใต้ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ทำให้เกิดอุปสรรคในการกรีดยาง สำหรับปัญหาผลผลิตปาล์มดิบไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องมาจากสภาพดินฟ้าอากาศ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้ปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบในการผลิต

          ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากความต้องการในการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นหลังภาวะน้ำท่วมคลี่คลายลง และมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญในภาคใต้ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้(ยอดคำสั่งซื้อไม้ยางพาราประเภทอัดน้ำยา จากจีนและมาเลเซียเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมอาหาร(ยอดขายอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งเพิ่มขึ้น จากความต้องการนำเข้าของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น)

          ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.4 ปรับลดลงจากระดับ 111.4 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทั้ง 2 กลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ เดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 107.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.7 ในเดือนพฤศจิกายน ค่าดัชนีความเชื่อมั่นที่สูงกว่า 100 แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่ดี องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา เป็นต้น

          ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 116.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 115.7 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ และดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ เดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 117.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.6 ในเดือนพฤศจิกายน

          ค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่ดี องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ อุตสาหกรรมสำคัญที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ, อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง, อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

          ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 106.9 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

          สำหรับด้านสภาวะแวดล?อมในการดําเนินกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจาก สถานการณ์ราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ อัตราแลกเปลี่ยน สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และสถานการณ์ทางการเมือง ตามลำดับ โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้นในปัจจัย สถานการณ์ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

          และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือให้ภาครัฐดูแลราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบ ให้เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่จะปรับตัวสูงขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนให้กับธุรกิจขนาดย่อม-กลาง โดยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ส่งเสริมการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านและมีการกระตุ้นการส่งออกอย่างต่อเนื่อง และ สร้างเสถียรภาพทางการเมืองและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ