1. ชงครม.สัปดาห์หน้า งบประมาณปี 55 วงเงิน 2.88 ล้านล้านบาท
- รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 55 ว่าในเบื้องต้นกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ 2.88 ล้านล้านบาท เป็นงบขาดดุล 3.8 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 1.9 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดีที่ประชุมได้ให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาลดการขาดดุลลงอีก เพื่อให้สามารถจัดทำงบประมาณเข้าสู่สมดุลได้เร็วขึ้น โดยจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า
- สศค.วิเคราะห์ว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี งปม. 55 ได้คำนึงถึงเป้าหมายที่ต้องการทำงบประมาณสมดุลได้ภายใน 5 ปี โดยตั้งเป้าให้การขาดดุลงบประมาณลดลงจาก 4.2 แสนล้านบาท (ร้อยละ 3.9 ต่อจีดีพี) ในปีงปม. 54 เหลือ 3.8 แสนล้านบาท (ร้อยละ 3.3 ต่อจีดีพี) ในปีงปม. 55 ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่มีการฟื้นตัวดีต่อเนื่องหลังผ่านพ้นวิกฤติ
โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 55 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี ทำให้ความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลลดลง ทั้งนี้คาดว่าหากจัดทำงบประมาณได้ที่ระดับดังกล่าว จะทำให้สามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้ในปี งปม. 59 ซึ่งจะรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีได้ต่ำกว่าร้อยละ 60 เป็นไปตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง
2. สศก.คาดเดือนม.ค.54 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรพุ่ง
- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนม.ค.54 จะยังคงปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาปาล์มน้ำมันและยางพารามีแนวโน้มสูงขึ้น จากความต้องการพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่ยังคงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาพรวมดัชนีราคาสินค้าเกษตรปี 53 อยู่ที่156.64 สูงขึ้นจากปี 52 และปี 51 ซึ่งอยู่ที่ 126.49 และ 132.27 ตามลำดับ โดยดัชนีราคาปี 53 อยู่ในระดับสูงตั้งแต่ต้นปีและเริ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิ.ย.53
- สศค.วิเคราะห์ว่า ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อรายได้ของแรงงานในภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 37.7 ของกำลังแรงงานรวม) ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูลล่าสุด ม.ค.-พ.ย.53 รายได้เกษตรที่แท้จริงขยายตัวที่ร้อยละ 17.1 ต่อปี ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศโดยรวมให้ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (ม.ค.-พ.ย.53) ที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 44.2 ต่อปี และปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 19.9 ต่อปี
3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของออสเตรเลียปรับตัวต่ำสุดในรอบ 7 เดือน
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)ของออสเตรเลีย เดือน ม.ค. 54 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 104.6 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เป็นผลมาจากความกังวลด้านปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลีย ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 4.75 หลังจากได้มีการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 52
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาน้ำท่วมรัฐ Queensland ของออสเตรเลียจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลียในวงค่อนข้างกว้าง เนื่องจากรัฐดังกล่าวเป็นแหล่งการขยายตัวของ GDP ออสเตรเลียถึงกว่าร้อยละ 25 ในขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ออสเตรเลียเป็นประเทศส่งออกรายใหญ่ เช่น ถ่านหิน แร่เหล็ก และน้ำตาล อาจมีราคาสูงขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจออสเตรเลียในระดับสูง โดยมีสัดส่วนการส่งออกไปออสเตรเลียร้อยละ 6.1 ของมูลค่าส่งออกสินค้ารวมปี 52 อย่างไรก็ตามปัญหาน้ำท่วมของออสเตรเลียน่าจะส่งผลต่อการส่งออกไทยในช่วงแรก ซึ่งหลังจากปัญหาดังกล่าวคลี่คลายลง ออสเตรเลียน่าที่จะกลับมานำเข้าสินค้าจากไทยในระดับที่สูง โดยเฉพาะสินค้าทุน เช่น รถยนต์ เพื่อฟื้นฟูและทดแทนสิ่งที่เสียหายไป
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง