ซีพีเอฟเดินหน้านโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ล่าสุดปฏิวัติรูปแบบฟาร์มสุกรให้กลายเป็น ฟาร์มสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อม แล้วกว่า 15 ฟาร์ม ตั้งเป้าเพิ่มอีก 5-10 ฟาร์มในปี 54
ซีพีเอฟเดินหน้านโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ล่าสุดปฏิวัติรูปแบบฟาร์มสุกรให้กลายเป็น ฟาร์มสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อม แล้วกว่า 15 ฟาร์ม ตั้งเป้าเพิ่มอีก 5-10 ฟาร์มในปี 54
นายสัตวแพทย์ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ (Damnoen Chaturavittawong D.V.M.) รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส (Senior Vice President ) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ (Charoen Pokphand Foods Public Co.,Ltd.- CPF) เปิดเผยว่า ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟทุกแห่งดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด ปฏิวัติรูปแบบฟาร์มสุกรให้กลายเป็น “ฟาร์มสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อม” ได้สำเร็จแล้วกว่า 15 ฟาร์ม เช่น ฟาร์มสุกรกาญจนบุรี ฟาร์มระยอง ฟาร์มจันทบุรี ฟาร์มพิษณุโลก ฟาร์มสุกรในโครงการเกษตรสันติราษฎร์ และฟาร์มสุกรในหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า เป็นต้น
“การปฏิวัติรูปแบบฟาร์มสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้เป็นที่กล่าวถึงกันมาก โดยเฉพาะในชุมชนรอบๆฟาร์มที่นอกจากชาวชุมชนจะไม่ต้องประสบกับมลภาวะทางกลิ่นแล้ว สวนหย่อมและป่าไม้ยืนต้นภายในฟาร์มยังส่งผลให้สภาพแวดล้อมบริเวณฟาร์มเต็มไปด้วยความร่มรื่นเกิดบรรยากาศที่ดี แม้เพียงแค่ขับรถผ่านยังอาจคิดว่านี่ไม่ใช่ฟาร์มสุกรแต่เป็นรีสอร์ทมากกว่า
ซึ่งซีพีเอฟมีเป้าหมายจะปรับปรุงฟาร์มให้เป็นฟาร์มสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ให้ได้อีก 5-10 ฟาร์มภายในปี 2554” น.สพ.ดำเนินกล่าวและว่า จากนี้ไปแวดวงการเลี้ยงสุกรจะมีพัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ และเชื่อว่าภาพฟาร์มสุกรรูปแบบเก่าๆ ที่สกปรกและมีกลิ่นเหม็นจะหมดไปในที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคและชุมชนอย่างยั่งยืน
ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ ได้พัฒนากระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสุกร หรือ ไบโอแก๊ส ที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่โลก ก่อเกิดเป็นพลังงานทดแทนใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าภายในฟาร์ม ลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนออกสู่ชั้นบรรยากาศ
ขณะที่ทุกฟาร์มได้ทำการปลูกต้นไม้ใหญ่ติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 18 ปี ทำให้ปัจจุบัน มีไม้ยืนต้น อาทิ ต้นสัก ต้นประดู่ ต้นยางพารา และต้นปาล์ม ที่เติบโตให้ร่มเงาเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า และในอนาคตต้นยางพาราจะให้ผลในเชิงเศรษฐกิจได้อีกด้วย